Monday, November 17, 2008

:: u n z e e n :: พระบรมมหาราชวัง

[]
 

 
พระบรมมหาราชวัง

 


  เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในปี 2325 ทรงให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมายังฝั่งพระนครจากนั้นทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางสำหรับพระนครใหม่

ภายในพระบรมมหาราชวังประกอบด้วยหมู่พระมหามนเฑียรพระมหาปราสาท พระที่นั่งหอและอาคารอื่นๆซึ่งมีการรื้อถอน ซ่อมแซม และต่อเติมแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือสร้างใหม่บ้างตามความจำเป็น และเหมาะสมในแต่ละรัชสมัย

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยใช้เป็นสถานที่รับรอง พระราชอาคันตุกะ มีความสวยงามด้วยการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรป โดยองค์พระที่นั่ง เป็นแบบยุโรป หลังคาเป็นยอดปราสาทแบบไทย

  ถึงแม้ว่าบริเวณนี้จะเป็นที่พื้นที่โล่งกว้าง แต่ถ้าหากต้องการจะมอง ยอดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้ว คุณจะต้องแหงนคอมอง เลยทีเดียว เพราะถึงแม้ว่าตัวอาคารเหล่านี้จะมีความสูงเพียงแค่ 3 ชั้น แต่ก็เทียบเท่ากับความสูงของอาคารทั่วไปถึง 6 ชั้นก็ว่าได้ ฝั่งตรงข้ามของ พระที่นั่งราชฤดี คือ หอพระสุราลัยพิมาน ที่นี่เคยใช้เป็น สถานที่รับรองของพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งประธานของหมู่พระมหามณเฑียรโดยพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต้น จะทรงประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้เป็นส่วนใหญ่

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นปราสาทจตุมุข สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ภายในมีพระแท่นราชบัลลังก์ระดับมุกและพระแท่นราชบรรจถรณ์ พระแท่นบรรทมของรัชกาลที่ 1

ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ละเหรียญกษาปณ์ จัดตั้งขึ้นโดยกรมธนารักษาจัดแสดงเป็นห้องต่างๆอาทิ ห้องที่ 1-3 เครื่องราชอิสริยยศ ห้องที่ 6 เครื่องทรงพระแก้วมรกต ห้องที่ 7 เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ห้องที่ 12 เงินตราโบราณ เป็นต้นนักท่องเที่ยวจำนวนมากมายต่างพากันแวะเข้ามาเยี่ยมชมความสวยงามของพระบรมมหาราชวังแห่งนี้

ทหารรักษาการ  ที่ยืนประจำอยู่บริเวณหน้าพระบรมมหาราชวังนั้น ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมาก เพราะพวกเขาปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน ท่าทางเคร่งขรึม และยืนนิ่งตลอดเวลา แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้ควรค่าแก่การปกป้องรักษาเอาไว้สืบไป และถึงแม้ทหารรักษาการจะต้องยืนนิ่งเป็นเวลานาน แต่พวกเขาก็มีความยินดีและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

  พระบรมมหาราชวัง นับเป็นสถานที่สำคัญอันดับต้นๆของบรรดาประเทศที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ เพราะนอกจากจะเป็นที่ประทับของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการปกครอง วัฒนธรรม ประเพณี และเป็นจุดเริ่มต้นของความเจริญในพระราชอาณาจักรอีกด้วย

ในสมัยโบราณ สิ่งก่อสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนทั้งหลายแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มักสร้างด้วยเครื่องไม้เป็นส่วนใหญ่ วันเวลาและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้สถาปัตยกรรมเหล่านั้นสูญสลายไปตามกาลเวลา ล่วงมาถึง พุทธศตวรรษที่ 19-20 เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีที่มั่นคงของสยามประเทศแล้วนั้น

พระมหากษัตริย์ทรงรับเอา ลัทธิเทวราชา มาจากกัมพูชา ทำให้สถานะของพระองค์เปรียบประดุจเทพเจ้าบนพื้นพิภพ พระบรมหาราชวังถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อให้เป็นวิมานเทวดา จึงปรากฏพระที่นั่งใหญ่โตที่สร้างอย่างมั่นคงแข็งแรงด้วยอิฐและปูน แต่ยังนิยมใช้ไม้มาประกอบเป็นเครื่องบน และส่วนประดับอาคารต่างๆเช่น บานประตู บานหน้าต่าง เป็นต้น

ในระหว่างนี้เองได้ปรากฏรูปแบบของอาคารที่มียอดแหลมสูง เรียกว่า "ปราสาท" ซึ่งมีคติการสร้างมาจากการจำลองเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ประทับของพระอิศวรลงมาเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ในฐานะสมมุติเทพ

 กำหนดให้สิ่งก่อสร้างรูปทรงนี้เป็นเครื่องฉลองพระเกียรติยศสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นๆสร้างไว้ในเขตที่พักของตนและกำหนดโทษรุนแรงสำหรับผู้ฝ่าฝืน ก่อนที่ในยุคต่อมามีการอนุญาตให้สร้างปราสาทในพระอารามต่างๆเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปได้

ตลอดเวลา 417 ปีที่กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่นั้น พระมหากษัตริย์แทบทุกพระองค์ทรงทำนุบำรุงพระบรมมหาราชวังให้ใหญ่โตโอ่อ่าสมพระเกียรติยศเสมอ น่าเสียดายที่เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียทีแก่ข้าศึกใน ปี พ.ศ.2310 พระบรมหาราชวังถูกเพลิงสงครามเผาจนหมดสิ้น

 

พระบรมหาราชวังแห่งกรุงเทพมหานคร
  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ลำคับที่ 1 แห่งพระราชวงศ์จักรี เมื่อปี พ.ศ.2325 นั้น ทรงพระราชดำริว่า " ชัยภูมิที่ตั้งเมืองและพระราชวังที่กรุงธนบุรีไม่เหมาะสม ควรย้ายศูนย์กลางราชธานีข้ามฟากมายังฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา "

 เดือนเมษายนปีเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ประทับ เรื่อพระที่นั่งศรีสมรรถไชย  เสด็จจากพระราชวังกรุงธนบุรี ข้ามฝั่งมายังพระราชวังแห่งใหม่ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้นบนคุ้งน้ำเจ้าพระยาซึ่งเดิมเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวจีน ก่อนที่จะทรงพระกรุณาโปรดให้ชาวจีนเหล่านั้นย้ายไปตั้งชุมชนใหม่อยู่ลึกเข้ามาจากฝั่งน้ำ ซึ่งในปัจจุบันเรียกย่านที่ชาวจีนย้ายมาอยู่ใหม่นี้ว่า "สำเพ็ง"

ในระยะแรก พระราชวังหลวงแห่งใหม่ยังเป็นเพียงอาคารไม้ หลังคามุงจาก มีรั้วไม้ปักล้อมรอบ ใช้เป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวเรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ.2326 จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้สร้าง "พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท" ขึ้น

 มีรูปทรงอย่างเดียวกับ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ในพระบรมมหาราชวังที่กรุงศรีอยุธยา ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2327 ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีบนพระที่นั่งองค์แรกของกรุงเทพมหานครแห่งนี้

  แต่แล้วเหตุการณ์อันน่าตื่นตกใจก็บังเกิดขึ้น ในปี 2332 เมื่อมี อสุนีบาต ฟาดลงมาต้องมุขเด็จหน้าพระที่นั่งซึ่งเป็นเครื่องไม้ เกิดไฟลุกท่วมแล้วลามจนไหม้พระที่นั่งอันงดงามนั้นจนหมดทั้งหลัง เล่าต่อๆกันมาว่าดีบุกที่ดาดไว้บนหลังคาละลายไหลลงมาดังห่าฝน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงบัญชาการดับเพลังด้วยพระองค์เอง โปรดให้ขนย้ายพระแท่นเศวตฉัตรราชบัลลังก์ และพระแท่นบรรทมประดับมุกหนีไฟออกมาได้ทันท่วงที

  ในปีเดียวกันนั้นเอง พระองค์จึงโปรดให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่บนพื้นที่เดิม แต่ปรับเปลี่ยนรูปทรงให้เป็น อาคารจัตุรมุขยอดปราสาท คล้ายกับพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ที่กรุงศรีอยุธยา  ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ ที่งดงามหาที่เปรียบมิได้ พระราชทานนามพระที่นั่งองค์ใหม่นี้ว่า "พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท"

โปรดให้สร้างพระราชมณเฑียรสถาน สำหรับเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ เป็นอาคารชั้นเดียวสามหลัง พระราชทานนามคล้องจองกันว่า พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน, พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และ พระที่นั่งอมรินทรวินจฉัย มไหสูรยพิมาน  พระมหากษัตริย์องค์ต่อๆมา ทรงถือเป็นพระราชธุระในการทำนุบำรุง บูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมหาราชวังเพื่อผดุงพระเกียรติยศแห่งพระราชวงศ์จักรีไว้ ตลอดเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมา

 จนบัดนี้ พระมหาปราสาทราชมณเฑียรยังคงสดใสงดงาม สาดแสงสีทองสว่างไสว ยามต้องแสงอาทิตย์ แม้ความเข้มงวดในประเพณี เกี่ยวกับวังหลวงบางประการจะค่อยคลายลง

 และบุคคลภายนอกก็สามารถเข้าไปชมความงามโอ่อ่าภายในได้ แต่ความศักดิ์สิทธิ์งามสง่า ยังคงอยู่เช่นเดิม อีกทั้งในงานพระราชพิธีเรายังได้เห็นพระราชกรณืยกิจ ของพระบาทมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถพร้อมทั้งพระบรม วงศานุวงศ์

 นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยบนผืนผ่นดินไทย อยู่ใต้ร่มฉัตรพระบารมีปกฟ้า...ขอพระองค์ทรงพระเจริญ





 
 
บางทีความสมบูรณ์แบบของชีวิต ก็ไม่ได้อยู่ที่ความเร็วของการเดินทาง
แต่อยู่ที่เราสนุกกับการเก็บเกี่ยวความสุข ระหว่างการเดินทางต่างหาก

No comments: