Monday, November 10, 2008

:: u n z e e n :: ยึดติด

[]

ยึดติด

โดย พระไพศาล วิสาโล


นายสุด ได้เลขท้าย ๓ ตัวมาจากหลวงพ่อ เลยแทงไป ๑๕ บาท ปรากฏว่าถูกเผง ได้มา ๖๐๐ บาท เขาดีใจมาก เที่ยวอวดใครต่อใครในหมู่บ้านว่าถูกหวย แต่พอรู้ว่า คอนซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน ก็แทงหวย ๓ ตัว ถูกเหมือนกัน แต่ได้เงินมากกว่าคือ ๒,๐๐๐ บาท เพราะแทงมากกว่า สุดเลยยิ้มไม่ออก หงอยไปทั้งวัน แถมยังโมโหตัวเองที่แทงน้อยไป


นายใจ ไปเที่ยวไนท์บาซ่า เห็นผ้าพื้นเมืองลายงาม ราคา ๕๐๐ บาท แต่เธอต่อได้ ๓๕๐ บาทจึงคว้าผ้า
ผืนนั้นกลับโรงแรมด้วยความดีใจ แต่พอรู้ว่าไก่เพื่อนร่วมห้องก็ซื้อผ้าแบบเดียวกันมา แต่ได้ราคาถูกกว่า
คือ ๓๐๐ บาท ใจก็หุบยิ้มทันที ไม่รู้สึกโปรดปรานผ้าของตนอีกต่อไป


แม้เราจะมี "โชค" หรือได้ของดีที่ถูกใจ แต่หากไปเปรียบเทียบกับของคนอื่นเมื่อใด สุขก็อาจกลายเป็นทุกข์ทันที หากรู้ว่าคนอื่นได้มากกว่า ได้ของดีกว่า หรือได้ของที่ถูกกว่า ส่วนของดีที่เราได้มากลับด้อยคุณค่าไปถนัดใจ


บางครั้งอาจทำให้เราทุกข์กว่าตอนที่ยังไม่ได้ของนั้นมาด้วยซ้ำ
ที่จริงไม่ต้องไปเทียบกับของคนอื่นก็ได้
เพียงแค่เห็นของรุ่นใหม่วางขายหรือโฆษณาตามสื่อต่างๆ
ก็เกิดความไม่พอใจในของเดิมที่มีอยู่ทันที
ทั้งๆ ที่มันก็ยังใช้ได้ดี ไม่มีปัญหาอะไรรบกวนใจ
ยกเว้นข้อเดียวคือ มันสู้ของใหม่ที่วางขายไม่ได้
ทั้งๆ ที่มีของดีอยู่กับตัว แต่คนเราแทนที่จะพอใจกลับรู้สึกเป็นทุกข์
เพียงเพราะใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งดีกว่า (หรือมากกว่า) ที่ตัวเองยังไม่มี

แต่เมื่อใดก็ตามที่ของชิ้นนั้นเกิดมีอันเป็นไป
เช่นทำตกหล่นหรือถูกขโมยไป เราก็จะกลับมาเห็นคุณค่าของมัน
และนึกเสียใจที่เสียมันไป จะกินจะนอนก็ยังนึกถึงมันด้วยความเสียดาย
ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นใน กรณีที่เป็นสิ่งของเท่านั้น
แต่ยังเกิดกับกรณีที่เป็นคนด้วย เช่น คนรัก หรือแม้แต่พ่อแม่และลูก

ผู้คนจำนวนมากไม่เห็นคุณค่าหรือมีความสุขกับคนใกล้ชิด
เพราะไปนึกเปรียบเทียบคนอื่นว่าเขามีพ่อแม่ คนรัก หรือลูกที่ดีกว่าเรา
แต่วันใดที่เราเสียเขาไป เราถึงจะกลับมาเห็นคุณค่าของเขา
และเศร้าโศกเสียใจจนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับเลยทีเดียว
เฝ้าหวนคำนึงถึงวันคืนเก่าๆ ที่เขาเคยอยู่กับเรา

คนเรามักทุกข์เพราะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ยังไม่มี หรืออาลัยในสิ่งที่สูญเสียไป
พูดให้ครอบคลุมกว่านั้นก็คือ
ทุกข์เพราะใจยังติดยึดอยู่กับอนาคตและอดีต
อนาคตและอดีตที่ว่ามิได้หมายถึง
สิ่งดีๆ ที่ยังไม่มีหรือที่เสียไปเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงสิ่งไม่พึงปรารถนาที่ (คาดว่า) รออยู่ข้างหน้า
เช่นอุปสรรค และสิ่งไม่พึงปรารถนาที่พานพบ คำต่อว่า
หรือการกระทำที่น่ารังเกียจ

คำตำหนิติเตียนไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน แต่ก็ทำอะไรเราไม่ได้
หากเราไม่เก็บเอาคิดซ้ำคิดซาก คำพูดเหล่านั้นผ่านพ้นไปนานแล้ว
แต่ที่ยังบาดใจเราอยู่ก็เพราะเราไม่ยอมปล่อยวางมันต่างหาก
ยิ่งคิดคำนึงถึงมันมากเท่าไรก็ยิ่งซ้ำเติมตัวเองมากเท่านั้น

การเอาเปรียบ กลั่นแกล้ง ทรยศ หักหลัง ก็เช่นกัน
แม้เป็นอดีตไปนานแล้ว แต่เราก็ยังทุกข์อยู่กับเหตุการณ์ดังกล่าว
ไม่ใช่เพราะเขายังทำเช่นนั้นกับเราอยู่
แต่เป็นเพราะเราชอบย้อนภาพอดีต
กลับมาฉายซ้ำในใจอย่างไม่ยอมเลิกรา
ย้อนแต่ละทีก็เหมือนกับกรีดแผลลงไปที่ใจ
หยุดย้อนอดีตเมื่อใดใจก็หายเจ็บเมื่อนั้น

อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนอนาคตยังมาไม่ถึง
แต่จะมาถึงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ได้
แต่บ่อยครั้งเรากลับยึดมั่นสำคัญหมายอย่างเป็นจริงเป็นจัง
ว่ามันจะต้องเกิด ขึ้นแน่ เท่านั้นยังไม่พอถ้าเป็นเรื่องแง่ลบด้วยแล้ว
เรามักจะวาดภาพไปในทางเลวร้าย
แล้วก็ยึดมันเอาไว้ไม่ให้คลาดไปจากใจ ทั้งๆ ที่ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์

ชายผู้หนึ่งเดินขึ้นตึกไปหาหมอ เพื่อฟังผลตรวจโรค
พอหมอบอกว่า พบก้อนมะเร็งระยะที่สองในปอดของเขา
เขาก็ถึงกับทรุด เข่าอ่อนเดินไม่ได้ กลับถึงบ้านก็กินไม่ได้
นอนไม่หลับ ซึมไปเป็นเดือน

ส่วนหญิงผู้หนึ่ง ป่วยกระเสาะกระแสอยู่นานหลายสัปดาห์
แล้ววันหนึ่งหมอก็บอกว่า เธอเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายที่ตับ
จะอยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือน ปรากฏว่าผ่านไปแค่ ๑๒ วัน เธอก็สิ้นใจ
ทั้งสองกรณีไม่ได้ทรุดฮวบเพราะโรคมะเร็งเล่นงาน
แต่เป็นเพราะใจเสีย ทันทีที่ได้ยินข่าวร้าย
ใจก็นึกภาพอนาคตของตัวเองไปในทางเลวร้าย
ยิ่งผู้ป่วยรายที่สองด้วยแล้ว
เธอนึกไปถึงวันตายของตัวเองเลยทีเดียว
แถมยังปรุงแต่งไปในทางที่มืดมน
เท่านั้นไม่พอเธอยังหมกมุ่นกับภาพดังกล่าวไม่หยุดหย่อน
ทั้งๆ ที่มันยังไม่เกิดขึ้น ผลก็คือถูกความทุกข์ท่วมทับจนมิอาจทานทนต่อไปได้

บ่อยครั้งเราเป็นทุกข์เพราะเรื่องที่ยังมาไม่ถึง
เช่น การสอบไม่ติดหรือตกงาน
โดยตัวมันเองไม่ก่อปัญหาแก่เรา มากเท่ากับใจที่ปรุงแต่งไปล่วงหน้า
ว่านับแต่นี้ไปชีวิตจะลำบากยากแค้นเพียงใด
แล้วจะอยู่ดูโลกนี้ต่อไปได้อย่างไร
แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจพบว่าที่แท้เราตีตนก่อนไข้ไปเอง
เพราะปัญหาต่างๆ ที่ตามมาไม่ได้หนักหนาสาหัสอย่างที่คิด
สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ปรุงแต่งเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึงเท่านั้น
กับสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า บางครั้งเราก็ปรุงแต่งให้เลวร้ายเกินจริง
เช่น อยู่รีสอร์ตคนเดียวกลางดึก ได้ยินเสียงผิดปกติ
ก็ปรุงแต่งไปทันทีว่าถูกผีหลอก หรือไม่ก็มีคนจะมาทำร้าย
เห็นคู่รักกำลังคุยอย่างสนิทสนมกับชายหนุ่มในร้านอาหาร
ก็คิดไปทันทีว่า เธอกำลังนอกใจ

การคิดปรุงแต่งที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงนั้น
เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่เมื่อใดที่เราหลงยึดว่ามันเป็นเรื่องจริง
เราก็กำลังก่อทุกข์ให้กับตัวเอง
แถมยังสามารถสร้างปัญหาให้แก่คนอื่นได้ด้วย

วัยรุ่นนั่งกินอาหารอยู่หน้าร้าน เผอิญขี้นกหล่นใส่หัว
แต่เขากลับคิดว่าเจ้าของร้านถ่มน้ำลายใส่หัว
จึงทะเลาะกับเจ้าของร้านอย่างรุนแรง
สักพักก็ออกจากร้านแล้วกลับมาพร้อมกับพวกอีกหลายคน
ควักปืนออกมายิงกราด
ถูกภรรยาเจ้าของร้านซึ่งกำลังท้อง ๕ เดือนตายคาที่
กลายเป็นฆาตกรที่ถูกตำรวจหมายหัวทันที

การยึดติดสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นเอง
เป็นที่มาอีกประการหนึ่งของความทุกข์
ทีแรกเราเป็นฝ่ายปรุงแต่งมันขึ้นมา
แต่เผลอเมื่อใดมันก็กลับมาเป็นนายเรา
สามารถผลักใจของเราไปสู่ความทุกข์
และชักนำชีวิตของเราไปในทางเสื่อมได้ง่ายๆ

กี่ครั้งกี่หนที่เราทำร้ายตัวเองและทำร้ายซึ่งกันและกัน
เพียงเพราะหลงเชื่อ ความคิดที่เราปรุงแต่งขึ้นมา
พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ไม่ได้ปรุงแต่งขึ้นมาเอง
แต่เป็นความจริงแท้ๆ จะไม่ก่อปัญหา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่สร้างความทุกข์แก่เรา
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ อยู่ในขณะนี้
เช่น รถเสีย เงินไม่พอใช้ ทะเลาะกับคนรัก ลูกคบเพื่อนไม่ดี งานไม่ก้าวหน้า
แต่ถ้าเรามัวแต่นึกถึงเรื่องเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะทำอะไร ก็กวาดเอาปัญหาต่างๆ มาครุ่นคิดด้วย
ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกันเลย เช่น กำลังทำงานอยู่
ก็ไปกังวลถึงรถ ถึงลูก ถึงพ่อแม่ แล้วยังห่วงคู่รักอีก
อย่างนี้แล้วจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร

ปัญหาเป็นเรื่องที่ต้องแก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม
แต่เมื่อใดที่เรากวาดเอาปัญหาต่างๆ มาทับถมจิตใจ
ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลา (หรือไม่ใช่เวลา) ที่จะแก้ไข
ก็เตรียมตัวกลุ้มได้เลย นี้เป็นการยึดติดอีกแบบหนึ่ง

อันที่จริงแม้มีปัญหาแค่เรื่องเดียว
แต่ถ้าหมกมุ่นอยู่กับมันตลอดเวลา ก็ทำให้คลั่งได้
ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเล็กแต่ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ง่ายๆ
เช่น หมกมุ่นกับสิวไม่กี่เม็ดบนใบหน้าวันแล้ววันเล่า
ก็อาจทำให้เจ็บป่วยหรือถึงกับทำร้ายตัวเองได้

การยึดเอาปัญหาต่างๆ มาทับถมใจ
บางครั้งก็ไปไกลถึงขนาดไปกวาดเอาปัญหาของคนอื่น
มาเป็นของเราเสียเอง เช่น เพื่อนมาปรึกษาปัญหาชีวิต
ก็เลยเอาปัญหาของเขามาเป็นของตนด้วย
จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ

เท่านั้นยังไม่พอบางคนถึงกับแบกปัญหาของประเทศมาไว้กับตัว
เลยเป็นเดือนเป็นแค้นกับสถานการณ์บ้านเมือง
ทะเลาะกับใครไปทั่วที่คิดต่างจากตน
สุดท้ายก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาบ้านเมืองไป

การยึดติดที่ลึกไป กว่านั้นคือ การยึดติดในตัวตน
สาเหตุที่เราทะเลาะกับคนที่คิดไม่เหมือนเรา
ก็เพราะเรายึดติดในความคิดของเรา

ความสำคัญมั่นหมายว่านี้เป็น "ความคิดของฉัน"
สะท้อนถึงความยึดติดในตัวตน
หรือที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า ยึดติดใน "ตัวกู ของกู"

นอกจากความคิดแล้ว เรายังยึดติดสิ่งต่างๆ อีกมากมายว่า
เป็นตัวฉันของฉัน อาทิ สิ่งของ บุคคล ชุมชน ประเทศ ศาสนา
มีอะไรมากระทบกับสิ่งนั้น ก็เท่ากับว่ากระทบ "ตัวฉัน"
ด่าว่ารถของฉัน ก็เท่ากับด่าฉันด้วย
วิจารณ์ศาสนาของฉันก็เท่ากับวิจารณ์ฉันด้วย

เป็นเพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งของสูญหาย คนรักจากไป
เราจึงอดหวนนึกถึงไม่ได้ เพราะใจยังยึดว่าเป็นของฉันอยู่
จึงยังมีเยื่อใยที่ดึงให้ใจย้อนระลึกถึงอยู่เสมอ
เวลาให้ของแก่ใครไป ความยึดติดในของชิ้นนั้นก็ยังมีอยู่
จึงเฝ้าดูว่าเขาจะใช้ของชิ้นนั้นหรือไม่
ถ้าไม่ใช้ก็รู้สึกเป็นทุกข์ที่เขาไม่ได้ใช้ของ "ของฉัน"
ญาติโยมหลายคนจึงไม่สบายใจที่พระไม่ได้ฉันอาหารที่ตนถวาย

ยึดติดในตัว ตนอีกอย่างคือการยึดมั่นสำคัญหมายว่า
ฉันเก่ง ฉันหล่อ ฉันเป็นส.ส. ฯลฯ ไปไหนก็อดตัวพองไม่ได้
อยากแสดงบารมีให้ใครรู้ว่า "นี่กูนะ"
อยู่ที่ใดก็ต้องการให้คนชื่นชม สรรเสริญ เคารพ นบไหว้
แต่ถ้าไม่ได้รับการปฏิบัติดังกล่าว ก็จะโมโหขุ่นเคือง
จนอาจคำรามว่า "รู้ไหมว่ากูเป็นใคร ?"
ยิ่งเจอคำวิจารณ์ด้วยแล้ว ยิ่งทนไม่ได้เข้าไปใหญ่

การ ยึดติดใน "ตัวกู ของกู หรือนี่กูนะ" เป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ นานัปการ
นำไปสู่การกระทบกระทั่งขัดแย้งและทำร้ายกัน
ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเครียดบีบคั้นภายใน
เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
ใช่แต่เท่านั้น แม้ได้สิ่งที่พึงปรารถนา
ก็ยังทุกข์เพราะได้ไม่สมใจ หรือทุกข์ที่คนอื่นได้มากกว่า

ที่น่าแปลกก็คือเราไม่ได้ยึดเอาแค่สิ่งดีๆ ที่ถูกใจ
ว่าเป็นตัวกูของกูเท่านั้น สิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกใจ
เราก็ยังยึดเป็นตัวกูของกูอีกเช่นกัน
เช่น ความเจ็บปวด เมื่อเกิดกับกาย
แทนที่จะเห็นว่า กายปวดเท่านั้น กลับไปยึดเอาว่า "ฉันปวด"
ความปวดเป็นของฉัน

เมื่อความโกรธเกิดขึ้นกับใจ
ก็ยึดมั่นสำคัญหมายว่า "ฉันโกรธ" ความโกรธเป็นของฉัน
ความยึดมั่นดังกล่าวรุนแรงชนิดที่ใจไม่ยอมไปไหน
มัวจดจ่อวนเวียนอยู่กับความปวดหรือความโกรธนั้นๆ อย่างเดียว
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความเผลอของใจ
รู้ทั้งรู้ว่ายึดแล้วทุกข์แต่ก็ยังยึดเพราะขาดสติ
ถ้าใจมีสติ ก็จะไม่เผลอยึดต่อไป

ความปวดความโกรธยังมีอยู่ก็จริง แต่คราวนี้มันทำอะไรจิตใจไม่ได้
เพราะใจไม่โดดเข้าไปให้ความปวดความโกรธเผาลน
เหมือนกองไฟที่ยังลุกไหม้อยู่
แต่ตราบใดที่เราไม่โดดเข้าไปในกองไฟ
หากถอยออกมาห่างๆ เป็นแค่ผู้สังเกตเฉยๆ ไฟก็ทำอะไรเราไม่ได้

สติช่วยให้ใจแยกออกมาอยู่ห่างๆ
จากความเจ็บปวดและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
กลายเป็น "ผู้ดู" มิใช่ "ผู้ปวด" หรือ "ผู้โกรธ"
จากความยึดติดกลายเป็นการปล่อยวาง

การปล่อยวางดังกล่าว
คือ หัวใจของการเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งหลาย
เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว
ความทุกข์ทั้งมวลเกิดจากความยึดติด
ยึดติดอดีตกับอนาคต ยึดติดสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นเอง
ยึดติดปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
รวมทั้งยึดเอาปัญหาต่างๆ มาเป็นของตน
ที่สำคัญคือ การยึดติดในตัวตน
เมื่อใดที่ปล่อยวางจากความยึดติดดังกล่าวได้
ความทุกข์ก็ไม่อาจทำอะไรเราได้อีกต่อไป

สติช่วยให้เรารู้ตัวเมื่อเผลอไปอาลัยอาวรณ์ในอดีต หรือวิตกกังวลกับอนาคต
พาจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบันเมื่อรู้ตัวว่า
เผลอไปจมอยู่กับเหตุร้ายที่ผ่านไปแล้ว
คอยทักท้วงใจไม่ให้หลงเชื่อความคิดปรุงแต่ง
เพราะตระหนักว่า ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่คิด
ในยามที่เผลอกวาดเอาปัญหาต่างๆ มาทับถมใจจนหนักอึ้ง

สติช่วยให้เราแก้ปัญหาเป็นเปลาะๆ เป็นเรื่องๆ
ไม่เอาปัญหาใดมาครุ่นคิดหากยังไม่ถึงเวลา (หรือไม่ใช่เวลา) ที่จะแก้
เวลาพักผ่อน ก็พักผ่อนเต็มที่
เมื่อถึงเวลาแก้ปัญหา ก็ใช้ปัญญาอย่างเต็มที่
ไม่มามัวตีโพยตีพาย หรือน้อยเนื้อต่ำใจว่า "ทำไมถึงต้องเป็นฉัน?"

ความทุกข์นั้นไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา
แต่อยู่ที่ว่าเรามีท่าทีหรือรู้สึกอย่างไรกับมันต่างหาก

แม้ปัญหาจะหนัก แต่ถ้าเริ่มต้นจากการยอมรับมันว่า
เป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว
ไม่ปฏิเสธผลักไสมันหรือก่นด่าชะตากรรม
ตั้งสติให้ได้แล้วหาทางแก้ไขมัน
แต่ขณะที่มันยังไม่หายไปไหน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

ไม่หวนนึกถึงอดีตอันผาสุก หรือปรุงแต่งอนาคตไปในทางเลวร้าย
ขณะเดียวกันก็ไม่หมกมุ่นอยู่กับปัญหา
หากปล่อยวางมันบ้าง ความสุขก็หาได้ไม่ยาก

นายทหารผู้หนึ่งไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ในฐานที่ทรงเคยเป็นอุปัชฌาย์ของตนมาก่อน
พอไปถึงประโยคแรกที่กราบทูลก็คือ "หนักครับ ช่วงนี้แย่มากเลยครับ"
ว่าแล้วเขาก็ทูลเล่าปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาในชีวิต

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงฟังอยู่นาน
แทนที่จะตรัสแนะนำหรือปลอบใจ
พระองค์กลับรับสั่งให้เขานั่งคุกเข่า ยื่นมือสองข้าง
แล้วพระองค์ก็เอากระดาษแผ่นหนึ่งวางบนฝ่ามือของเขา
"นั่งอยู่นี่แหละ อย่าไปไหนจนกว่าข้าจะกลับมา"

รับสั่งเสร็จพระองค์ก็เสด็จเข้าไปในตำหนัก
นายทหารนั่งในท่านั้นอยู่นาน จาก ๑๐ นาทีเป็น ๒๐ นาที
สมเด็จพระสังฆราชก็ยังไม่เสด็จออกมา
เขาเริ่มเหนื่อย มือและขาเริ่มสั่น กระดาษชิ้นเล็กๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ
จนประคองแทบไม่ไหว พอสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จกลับมา
ก็ทรงถามว่า "เป็นไง?"

คำตอบของเขาคือ "หนักครับ พระเดชพระคุณ เมื่อยจนจะทนไม่ไหว"
"อ้าว ทำไมไม่วางมันลงเสียละ?"
สมเด็จรับสั่ง "ก็ไปยอมให้มันอยู่อย่างนั้น มันก็หนักอยู่ยังงั้นนะซี
มันจะเป็นอื่นไปได้ยังไง"

กระดาษที่เบาหวิว แต่หากถือไว้นานๆ
ไม่ยอมปล่อย ก็กลายเป็นของหนักไปได้
แต่ปัญหาถึงจะใหญ่โตเพียงใด
ถ้าไม่ยึดถือเอาไว้ ก็ไม่ทำให้เราทุกข์ได้

ใช่หรือไม่ว่าหินก้อนใหญ่จะกลายเป็นของหนัก
และสร้างทุกข์ให้แก่เราก็ต่อ เมื่อเราแบกมันเอาไว้เท่านั้น
เมื่อมีสติรักษาใจ รู้เท่าทันความคิด ไม่เผลอยึดติดจนจิตหนักอึ้ง
แม้งานจะยาก อุปสรรคจะเยอะ ก็ยังเป็นสุขอยู่ได้


คัดลอกจาก...ยึดติด [สารคดี กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑]
โดย พระไพศาล วิสาโล

No comments: