Tuesday, September 25, 2007

:: u n z e e n :: เยือนลำพูน เที่ยวงานบุญ ‘ตานก๋วยสลาก’

[]

[J][A][A]

~ กลุ่มเมล์อันซีน ~
สาระน่ารู้ รื่นเริง บันเทิงใจ
สมัครรับเมลล์ ไปที่เว็บไซท์ ' http://groups.google.com/group/unzeen '
หรือส่งเมลล์เปล่าไปที่ ' unzeen-subscribe@googlegroups.com '

เยือนลำพูน เที่ยวงานบุญ 'ตานก๋วยสลาก'
 
ถวายไทยทาน ~ กราบพระธาตุคู่เมือง
อีกหนึ่งประเพณีสำคัญของถิ่นล้านนา


ภาคเหนือ มีประเพณีมากมาย
หากคนภาคอื่นได้ไปเยือนแล้ว จะเกิดความประทับใจในการต้อนรับของชาวบ้านชาวเมือง
รวมทั้งการแสดงที่อ่อนช้อย ตลอดจนสีสันของงานที่เน้นหลากหลายสี ดูแล้วน่าสนใจ น่าค้นหายิ่งนัก
สำหรับประเพณีการถวายทานสลากย้อม หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ตานก๋วยสลาก" ซึ่งในจังหวัดลำพูน ใ
นปีนี้กำหนดจัดอย่างยิ่งใหญ่ ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
ในวันเพ็ญเดือน 10 ของทุกๆ ปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 26 กันยายน 2550

 

การถวายทานสลากย้อมนี้ ในอดีตเชื่อกันว่าเป็นหน้าที่ของหญิงสาวที่จะพึงทานโดยเฉพาะ
เมื่อหญิงสาวคนใดอายุขัยอยู่ในวัยสาว มีความสามารถพอที่จะทำงานได้
พ่อแม่ก็จะแนะนำให้ลูกทราบถึงหน้าที่ที่หญิงสาวพึงปฏิบัติเป็นเบื้องแรก
คือการเก็บหอมรอมริบเงินทองที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง เพื่อรักษาไว้ถวายทานสลากย้อม
โบราณกล่าวว่าหญิงใดยังไม่ได้ถวายทานสลากย้อมหญิงนั้นไม่สมควรจะแต่งงาน
ถ้าหญิงใดได้ถวายทานสลากย้อมแล้ว ถือว่าแต่งงานเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีได้
เพราะประเพณีทำให้เกิดผลดี คือ เป็นการหัดให้เด็กรู้จักการเก็บหอมรอมริบ รู้จักมัธยัสถ์
ซึ่งต้องใช้เวลาในการเก็บเงินเพื่อทำสลากย้อมประมาณ 4-5 ปี
ซึ่งสิ่งนี้พอที่จะสามารถสร้างนิสัยการเก็บออมให้เกิดขึ้นได้
เมื่อหญิงสาวมีเงินพอที่จะถวายทานสลากย้อมแล้ว
จะเริ่มซื้อของตระเตรียมไว้ทีละเล็กละน้อยตั้งแต่สร้อยคอทองคำ เข็มขัดเงิน
และเครื่องเรือนครบทุกชิ้น นอกนั้นเป็นส้มสุกลูกไม้
โดยเฉพาะกล้วย จะใส่ทั้งเครือ มะพร้าวใส่ทั้งทะลาย และยังมีขนมนมเนยทุกอย่างใส่อีกด้วย

 

ต้นสลากย้อมนิยมทำสูงประมาณ 5-6 วา หรือตั้งแต่ 12 เมตรขึ้นไป
ที่ยอดของต้นสลากย้อม ชาวบ้านมักปักร่มกางไว้ ส่วนตามกลอนและเชิงชายของร่ม
จะห้อยย้อยไปด้วยสร้อยคอ เข็มขัดตลับเงิน และเหรียญเงินประดับประดาอย่างสวยงาม
ขณะที่ลำต้นของสลากย้อมจะใช้ฟางมัดล้อมรอบเพื่อง่ายแก่การปักไม้
สำหรับแขวนผลไม้และสิ่งของต่าง ๆ ตามแต่เจ้าภาพจะปรารถนา
สำหรับการแต่งดานี้จะใช้เวลาร่วมเดือนด้วยการนำกระดาษสีที่นำมาประดับนับเป็นร้อยแผ่น
ที่จะเรียกว่าย้อมสมบูรณ์นั้น จะต้องมีประวัติของเจ้าของสลากอ่านให้คนทั้งหลายฟังด้วย
การเขียนประวัติเจ้าของสลากย้อมนี้ จะต้องไปจ้างผู้ที่มีความชำนาญในการแต่งกลอนพื้นเมืองเป็นผู้แต่ง
โดยเรียกว่า "ครรโลง" ผู้แต่งจะบรรยายด้วยลีลากลอนอันไพเราะ
เล่าถึงชีวประวัติของเจ้าของสลากย้อม นับตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน
ในบทกลอนคือ "ค่าว" หรือ "ครรโลง" นี้ ผู้แต่งจะสอดแทรกคติธรรม ตลกขบขัน
เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังและเจ้าของสลากย้อม ตามจังหวะที่เหมาะสม

 

ตอนท้ายเป็นคำแผ่บุญและปรารถนาที่เจ้าของสลากย้อมได้ ตั้งไว้ จบลงด้วยครรโลงธรรม
ขณะแต่งดาสลากย้อมในเวลากลางคืน "ครรโลง" นี้จะสามารถช่วยกล่อมบรรยากาศ
ในการแต่งดานั้นเกิดความครึกครื้นขึ้น โดยผู้มีเสียงอันไพเราะของการอ่าน "ครรโลง"
จะมีด้วยกันตั้งแต่ 2-3 คนขึ้นไป ถ้า "ครรโลง" ใครแต่งดีจะมีคนมาอ่านไม่ขาด
เป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่เจ้าของสลากย้อมเป็นอันมาก
ฉะนั้นเจ้าภาพจึงเลือกจ้างคนที่มีฝีปากดีจริงๆ แม้ค่าจ้างนั้นจะแพงก็ยอม
เมื่อแต่งดาเสร็จถึงวันถวายทานสลากแล้ว จะมีชาวบ้านมาช่วยกันหามแห่จากบ้านไปสู่วัด
ที่งานถวายทานสลากย้อมโดยจะใช้คนหามอย่างน้อย 12 คน เพราะหนักมาก
การถวายทานก็เหมือนกับการทานสลากภัตโดยทั่วไป
เมื่อสลากย้อมตกแก่พระภิกษุหรือสามเณรรูปใดแล้ว ก่อนประเคนรับพรพระหรือสามเณรรูปนั้น
ต้องหาคนมาอ่านครรโลงของเจ้าภาพจนจบเสียก่อน จึงสามารถประเคนรับพร อันเป็นเสร็จพิธี

ประเพณีถวายทานสลากย้อมนี้ นับได้ว่าเป็นประเพณีของชาวเหนือที่หาดูได้ยาก
จึงขอเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมงานประเพณีนี้
ในวันที่ 26 กันยายน ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป
ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน
หากท่านได้มาร่วมงาน นอกจากจะได้บุญกุศลแล้ว ยังได้นมัสการพระธาตุหริภุญชัย
ซึ่งเป็นจอมเจดีย์ 1 ในประเทศไทย รับรองว่ามาเที่ยวงานนี้แล้วจะอิ่มบุญไปอีกนาน


สนับสนุนข้อมูล
สวัสดิ์ ทาใจ/ชาญฤทธิ์ มณีจอม
 
- ที่มา: จันทร์เจ้าขาดอทคอม -
 
 
 
' เคลียร์เมลล์บ๊อกซ์ให้ว่าง เพื่อรับเมลล์ดีๆ แบบนี้ทุกวัน '

No comments: