Tuesday, May 20, 2008

:: u n z e e n :: ข้อคิดพ่อแม่ก่อนตั้งชื่อลูก

[]

[] 
 
 
ข้อคิดพ่อแม่ก่อนตั้งชื่อลูก
โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 19 มีนาคม 2551 09:15 น.
       บรรดาคนที่เป็นพ่อแม่มือใหม่ทั้งหลาย คงเคยผ่านกระบวนการวุ่นวายในการ "ตั้งชื่อ" ลูก กันมาไม่มากก็น้อย คงเข้าใจดีว่าเรื่องการตั้งชื่อลูกในยุคปัจจุบันถูกให้ความสำคัญอย่างมากถึงมากที่สุด
       
       พ่อแม่บางคนให้ความสำคัญเรื่องโหราศาสตร์ ก็เอาวันเดือนปีเกิดไปหาพระอาจารย์ที่ตนเองนับถือ เพื่อสรรหาชื่อที่คิดว่าดีและเหมาะกับลูกที่สุด  บางคนก็อยากตั้งชื่อลูกเอง แต่ต้องเผชิญความเห็นที่แตกต่างของคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสามี หรือภรรยา หรือปู่ย่าตายายก็ตาม เรียกว่า กว่าจะได้ชื่อลูกให้สมใจคนทุกฝ่าย ทั้งชื่อจริง และชื่อเล่น ก็เรียกเอาเหนื่อยใจไปเหมือนกัน
       
       ในขณะที่กระบวนการคลอดในบ้านเรา ที่เด็กส่วนใหญ่จะคลอดในโรงพยาบาล เมื่อคลอดเสร็จแล้วก็จะมีนางพยาบาลนำป้ายชื่อมาติดที่ข้อมือของทารกน้อยเอาไว้ เพื่อแทนสัญลักษณ์ให้รู้ว่าทารกคนนั้นๆ เป็นลูกของใคร เพราะทารกแรกเกิดหน้าตาค่อนจะละม้ายคล้ายกันไปหมด เรียกว่า ถ้าพยาบาลไม่รอบคอบ ก็อาจทำให้ทารกที่เกิดในวันและเวลาใกล้เคียงกัน ถูกติดชื่อสลับกัน ก็มีให้เห็นอยู่บ้าง
       
       ฉะนั้น ทารกบางคนก็อาจมีชื่อที่ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคิดให้ก่อน เพื่อบริการนำไปแจ้งเกิดกับที่ทำการเขตนั้นๆ ชื่อที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลติดให้ตรงข้อมือจึงมักจะชื่อประเภท สมชาย สมหญิง ฯลฯ อะไรประมาณนั้น
       
       จากนั้นคนเป็นพ่อแม่เมื่อได้ชื่อประเภทถูกใจแล้ว จึงไปแจ้งเปลี่ยนในภายหลัง
       และเมื่อพ่อแม่เปลี่ยนชื่อแล้ว หากคุณลูกป่วยบ่อยหรือโชคไม่ดี ก็มักถูกเชื่อมโยงมาถึงชื่อว่าไม่เหมาะกับตัวเอง ก็เลยลงท้ายด้วยการเปลี่ยนชื่อลูกอีกครั้ง
       
       พอลูกโตขึ้น เริ่มสนใจเรื่องเทรนด์ใหม่ ความทันสมัยของชื่อที่บ่งบอกความกิ๊บเก๋ทั้งหลายก็เข้ามามีบทบาท สุดท้ายคุณลูกก็เลยขอเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง หรือสองครั้ง หรืออีกกี่ครั้ง ยามเมื่อมีคนทักว่าถ้าเปลี่ยนชื่อแล้วจะดี ก็เลยว่าตาม
       
       กลายเป็นแฟชั่นการเปลี่ยนชื่อที่มาแรงแซงโค้งจริงๆ …!!
       
       อย่าว่าแต่คนเป็นพ่อแม่เลย ดิฉันเชื่อว่าเราๆ ท่านๆ ก็ผ่านการเปลี่ยนชื่อหรือมีเพื่อนเปลี่ยนชื่อกันมาบ้างแล้ว
       
       ดิฉันเองมีเพื่อนที่เคยเปลี่ยนชื่อถึง 6 ครั้ง ... เปลี่ยนจนถ้าไม่รู้มาก่อน ก็อาจจะเข้าใจว่าเธอไม่ใช่เพื่อนคนนั้นที่เคยรู้จักหรือเคยเรียนด้วยกันมาก่อน
       
       ยุคนี้เรื่องการเปลี่ยนชื่อกลายเป็นของเก๋ไปอีกแบบ เรียกว่า ถ้าใครสามารถสรรหาชื่อที่แปลกแหวกกว่าคนอื่นได้ กลายเป็นว่าเท่ไปซะอีก ประมาณว่า
       
       ถ้าใช้ตัว "" จะดูธรรมดาไป ขอใช้เป็น "ฬ"
       
       หรือ ถ้าชื่อใช้ตัว "ท" ก็สุดแสนจะธรรมดา ต้องใช้ "ฐ" เป็นตัวสะกด
       
       ฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมเวลามีการประกาศชื่อในงานหรือวาระต่างๆ แล้วมักจะเห็นเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศถึงได้ชะงัก เพื่อพยายามสะกดชื่ออยู่บ่อยๆ
       
       ดิฉันเองก็เป็นคนที่เปลี่ยนชื่อมาแล้วเช่นกัน เปลี่ยนเพราะคุณพ่อคุณแม่จัดสรรให้ เพราะว่าชื่อเดิมมี "สระ" ไม่เหมาะกับคนที่เกิดวันจันทร์ ก็เลยต้องจัดการเปลี่ยนให้ ทีแรกก็กลุ้มใจกับชื่อตัวเองเหมือนกัน เขียนก็ยากกว่าปกติ ที่สำคัญ เกิดมาก็ไม่เคยได้ยินชื่อนี้เหมือนกัน แต่ก็เอา พ่อแม่เราว่าดีก็ดี ทั้งที่เวลาคนออกเสียงมักจะผิด หรือหยุดนิดนึงก่อนสะกดออกเสียง หรือเวลาใครจะเขียนชื่อก็ต้องถามว่าสะกดอย่างไร ก็เลยกลายเป็นธรรมเนียมว่า ถ้าเวลาจะบอกชื่อใครต้องสะกดให้ฟังด้วย เพราะร้อยทั้งร้อย เขียนชื่อเราผิดแน่นอน
       
       พอมาถึงรุ่นลูก ดิฉันเข้าใจปัญหาเรื่องชื่อมาโดยตลอด ก็เลยตั้งชื่อเขาให้ง่ายที่สุด เอาแบบธรรมดาที่สุด เพราะเข้าใจดีว่าชื่อนั้นมีความหมายต่อชีวิต ชื่อดีก็เป็นมงคลต่อชีวิต แต่ก็ต้องต่อท้ายด้วยเหมือนกันว่า ควรเรียบง่าย และคำนึงถึงการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องด้วย
       
       ชื่อของลูกชายก็เลยแสนเรียบง่ายชื่อว่า "สรวง" และ "สิน" แต่ก็ยังนึกขำว่าง่ายแบบนี้กลับมีคนออกเสียงผิด ไม่รู้เพราะเคยชินกับการออกเสียงที่ซับซ้อนบ่อยๆ พอชื่อพื้นๆ ก็เลยนึกเอาเองว่าคงไม่ได้ออกเสียงธรรมดากระมัง จากชื่อ "สรวง" ก็เลยออกเสียงว่า "สอ-ระ-วง" สร้างความครื้นเครงให้กับครอบครัวเราทุกครั้งที่มีคนเรียกผิด
       
       จะว่าไป อาจเพราะความที่เราคุ้นชินกับการพยายามตั้งชื่อให้ออกเสียงยากๆ บางตัวไม่ควรเป็นตัวสะกดก็ออกเสียงสะกด เป็นความคุ้นชินที่ผิดหลักไวยากรณ์ แต่เมื่อพูดบ่อยๆ และเจ้าของชื่อก็ตั้งใจก็เลยกลายเป็นการยอมรับไปโดยปริยาย เช่น สม... แต่ออกเสียงเป็น "สะมะ"
       
       ประมาณว่าเราคุ้นชินที่ต้องวิลิศมาหราหน่อย พอกลับไปสู้ชื่อพื้นๆ ก็เลยคิดว่าไม่ใช่ .!!!
       
       และใช่หรือไม่ที่เราคุ้นชินกับการออกเสียงที่ผิดหลักไวยากรณ์จนกลายเป็นคิดว่าถูก ...!!!
       
       นี่เป็นเพียงอีกเรื่องหนึ่งที่ยกตัวอย่างขึ้นมา ยังมีอีกหลายเรื่องราวในบ้านเรา ที่เราใช้ความคุ้นชิน หรือวิถีปฏิบัติ จนไม่ได้ใส่ใจเรื่องความถูกต้อง
       
       ในต่างประเทศก็ไม่น้อยหน้าเหมือนกัน พ่อแม่ไม่ว่าจะชนชาติไหน ต่างก็ให้ความสนใจเรื่องชื่อของลูกเป็นสิ่งสำคัญในลำดับต้นๆ เรียกว่าเตรียมตั้งชื่อให้ลูกตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่กันเลย อยากให้ลูกมีชื่อที่ไพเราะ ความหมายดี เพราะชื่อนั้นจะติดตัวลูกไปตลอดชีวิต
       
       บางครอบครัวกว่าจะเลือกได้ชื่อที่ถูกใจก็ไม่ต่างจากบ้านเรา เพราะต้องผ่านการถกเถียงกันยกใหญ่
       
       จากการสำรวจของเว็บไซต์ BabyCenter พบว่า 58% ของพ่อแม่ผู้ปกครองกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าชื่อที่ถูกต้องเหมาะสม จะมีส่วนในการนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต บางคนถึงกับยอมจ่ายเงินให้ผู้อื่นช่วยหาชื่อที่ถูกใจ
       
       และแม้จะผ่านการคัดเลือกและตัดสินใจอย่างดีแล้ว พ่อแม่ 3% ก็ยังยอมรับว่ามีความเสียใจกับชื่อที่ตั้งให้ลูกและอยากจะเปลี่ยนชื่อให้ใหม่หากมีโอกาส เหตุผลก็คือ เมื่อเวลาผ่านไปชื่อนั้นป๊อปปูล่าจนเกินไป หรือผู้คนมักออกเสียงไม่ถูกต้อง
       
       "พ่อแม่จำนวนมากมองว่า การตั้งชื่อให้ลูกเป็นเรื่องสำคัญ และเรื่องที่ตัดสินใจยากที่สุดที่ต้องทำ พ่อแม่อยากจะได้ชื่อที่สามารถถ่ายทอดตัวตนของลูกและเข้ากับลักษณะบุคลิกภาพไปตลอดชีวิต ซึ่งผู้ที่มีลูกชายจะต้องการชื่อที่สื่อถึงเข้มแข็งมีพละกำลังและเป็นตัวของตัวเอง ส่วนคนที่มีลูกสาวก็จะให้ความสำคัญกับชื่อที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้หญิงเป็นอันดับหนึ่ง" ลินดา เมอร์เรย์ บรรณาธิการ Baby Center กล่าว
       
       ผลการสำรวจยังบอกด้วยว่า 9% ของพ่อแม่มือใหม่และว่าที่คุณพ่อคุณแม่พร้อมที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ที่สามารถช่วยพวกเขาเลือกชื่อลูก 48% บอกว่าเหล่าคนดังและคนมีชื่อเสียงนั้นไม่ได้มีอิทธิพลต่อการตั้งชื่อลูกแต่อย่างใด 26% มองว่าในการตั้งชื่อลูกนั้น เสียงของคุณแม่มักจะมีน้ำหนักมากกว่าเสียงของคุณพ่อ และ 57% บอกว่าไม่ได้เจาะจงที่จะตั้งชื่อลูกตามใครคนอื่น
       
       
แต่ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์การตัดสินใจอย่างไร เขาจะคำนึงถึงการออกเสียงที่ถูกต้องไม่ว่าคุณจะตั้งชื่อลูกว่าอะไร ก็ขอให้คำนึงด้วยว่า ชื่อลูกจะต้องติดตัวเขาไปตลอดชีวิต และต้องพบปะผู้คนมากมาย ชื่อไพเราะ เท่ขนาดไหน ต้องมาพร้อมกับหลักไวยากรณ์ที่ถูกต้องด้วยค่ะ

No comments: