Tuesday, May 13, 2008

:: u n z e e n :: พายุ ~ ตั้งชื่อยังไง ความเร็วเท่าไรจะเรียกแบบไหน

[]

[]

หลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อพายุ

       เดิมทีสหรัฐฯ เป็นผู้ตั้งชื่อพายุของทั่วโลกมาโดยตลอด เพราะเป็นประเทศเดียวที่มีความเพียบพร้อมทางเทคโนโลยีทางดาวเทียมตรวจสภาพอากาศ ดูความเคลื่อนไหวของพายุ การตั้งชื่อพายุสมัยก่อนนั้นจะใช้ชื่อผู้หญิงในการตั้ง เพราะฟังแล้วจะดูรุนแรงน้อยลง ในกรณีที่ผู้ตั้งชื่อเป็นนักเดินเรือ ก็จะตั้งชื่อพายุเพื่อคลายความคิดถึง ถึงคนที่เป็นที่รัก แต่ภายหลังก็มีนักสิทธิสตรีในสหรัฐฯออกมาประท้วงว่าการตั้งชื่อพายุทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงโหดร้าย ภายหลังจึงมีการตั้งชื่อผู้ชายด้วย

       กระทั่งปี ค.ศ. 2000 ได้มีการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ จากทุกโซนของโลกเสนอชื่อพายุได้ประเทศละ 10 ชื่อ โดยกำหนดให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในแต่ละประเทศในการตั้งชื่อพายุ

       ในส่วนของประเทศไทย ตั้งอยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ ร่วมกับสมาชิกประเทศอื่นๆ ได้แก่กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สหรัฐฯและเวียดนาม

       ชื่อพายุจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ ชื่อพายุแต่ละชื่อ จะเรียงตามชื่อประเทศของลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงเวียดนามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย โดยไทยเราอยู่อันดับที่ 12 เมื่อใช้หมด 1 กลุ่มก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง

       ด้วยเหตุนี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาจึงได้ตั้ง "คณะกรรมการพิจารณารายชื่อและความหมายของชื่อ" ขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนเสนอชื่อพายุในภาษาไทยที่ที่ประชุมของ "ศูนย์เตือนภัยพายุไต้ฝุ่นร่วม" (Joint Typhoon Warning Center (JTWC)) ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะกวม ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก โดยมีสมาชิกอีก 14 ประเทศในโซนเดียวกันมาร่วมประชุม จนได้ชื่อพายุของไทยตามลำดับได้แก่ พระพิรุณ ทุเรียน วิภา รามสูร เมขลา มรกต นิดา ชบา กุหลาบและขนุน
 
 
     พายุหมุนเขตร้อน หมายถึง พายุหมุนที่เกิดขึ้นเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน ซึ่งอยู่ระหว่าง ละติจูดที่ 30 องศาเหนือ ถึง 30 องศาใต้

     ทางอุตุนิยมวิทยาได้ใช้อัตราเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุเพื่อแบ่งประเภทพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งเกิดเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน ได้ดังนี้

ประเภท ความเร็วลม

พายุดีเปรสชั่น ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่เกิน 61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุโซนร้อน ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางระหว่าง 70-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุไต้ฝุ่น ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป

การเรียกชื่อพายุนั้นเรียกต่างๆ กันตามบริเวณที่เกิด เช่น
1. ถ้าพายุเกิดในอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่า พายุไซโคลน
2. ถ้าพายุเกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริเบียน อ่าวเม็กซิโก เรียกว่า พายุเฮอริเคน
3. ถ้าพายุเกิดในออสเตรเลีย เรียกว่า พายุวิลลี-วิลลี
4. ถ้าพายุเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีน เรียกว่า พายุไต้ฝุ่น

     ส่วนพายุทอร์นาโดหรือลมงวงช้าง มีลักษณะหมุนเป็นเกลียว โดยจะเห็นลมหอบฝุ่นละอองเป็นลำ พุ่งขึ้นสู่บรรยากาศ คล้ายมีงวงหรือปล่องยื่นลงมา พายุนี้เกิดขึ้นได้ทุกทวีป แต่เกิดบ่อยที่สุดในทวีปออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เกิดได้เกือบตลอดปี พายุนี้มีอำนาจทำลายร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งต่างๆ รวมทั้งชีวิตมนุษย์และสัตว์ด้วย ขณะเกิดพายุนี้มักมีฟ้าคะนองและฝนตกหนักขึ้นพร้อมกัน บางครั้งยังมีลมพายุพัดกระโชกแรง พาเอาลูกเห็บมาด้วย พายุทอร์นาโดจะเกิดในเมฆที่ก่อตัวทางตั้งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

     นอกจากลมจะทำให้เกิดความเสียหายแล้ว แต่ก็ยังให้ประโยชน์กับมนุษย์มากมาย เช่น ใช้ในการแล่นเรือ ในชีวิตประจำวัน ลมทำให้ผ้าแห้ง ช่วยให้เกิดความเย็นสบาย ช่วยหมุนกังหันเพื่อฉุดระหัดวิดน้ำ ปั๊มสูบน้ำ ปั่นไฟ ใช้ประโยชน์จากแรงลมซึ่งเป็นการใช้พลังงานที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม

No comments: