Monday, February 4, 2008

:: u n z e e n :: ขันที ~ บันทึกไว้ในตำนานจีน

[]

[]

 
ขันที บันทึกไว้ในตำนานจีน


ประเทศจีนถือเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานชาติหนึ่งของโลก โดยเป็นชาติที่มีบทบันทึกบนหน้ากระดาษ(ว่ากันว่าจีนเป็นชาติแรกที่ผลิตกระดาษ)มากว่าพันปี

ดังนั้น จีน จึงเป็นชาติที่มีวัฒธรรม  ประเพณี ความเชื่อและธรรมเนียมต่างๆที่มีความเป็นเอกลักษณ์  โดยมีการสืบทอดต่อๆกันมาอย่างต่อเนื่อง  จนถึงปัจจุบันวัฒธรรมหรือกฏหมายบางอย่าง อาทิ การไม่นิยมมีลูกสาว การไม่ใช้ภาษาต่างชาติ การไม่ยอมรับเพศที่สาม  ยังคงสะท้อนถึงค่านิยมดั้งเดิมของชาวจีนได้อย่างดี

ย้อนกลับไปเมื่อหลายพันปีก่อน กลุ่มบุคคลหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมที่เคร่งครัดของชาวจีนโบราณ ก็คือ ขันที ชายที่ยอมถูกตัดตอน เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในพระราชวังได้อย่างสมบูรณ์

ขันที เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ยิน ซึ่งจากหลักฐานบนกระดองเต่ามีตัวหนังสือจีนโบราณอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งหมายถึง การตัดองคชาต  บนกระดองเต่ากล่าวไว้ว่า อู่ติงหวัง จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ยิน (1,254 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้ทรงรับสั่งให้ตัดอวัยวะเพศของหนุ่มชาวเชียง ที่ถูกจับมาเป็นเชลย และให้นำตัวไปเป็นขันที ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ

แม้ว่าผู้ที่ตกเป็น 'ฝ่ายถูกกระทำ' จะยังมีลมหายใจอยู่ แต่ก็เหมือนตายทั้งเป็น ยิ่งในสังคมศักดินาด้วยแล้ว การที่ไม่สามารถทำหน้าที่สืบสกุล มีลูกหลานไว้คอยเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ถือเป็นตราบาปในชีวิตลูกผู้ชายที่รุนแรง และน่าอับอายยิ่ง

แต่เดิมขันทีมีที่มาจากสงคราม บ้างเป็นคนที่สูญเสียอวัยวะจากสงคราม แล้วจักรพรรดิอยากได้คนเข้ามาทำงานในวัง 

ทว่า กลัวว่าจะไปมีความสัมพันธ์กับสนมหรือนางกำนัล ต้องใช้คนที่ไม่มีอวัยวะส่วนนั้น เมื่อพอจับมามากๆ เข้าก็เริ่มขาดแคลน ก็เลยต้องเริ่มมีการนำผู้ชายปกติมาทำเป็นขันที

ต่อมาในสมัยกวงบู๊ ค่านิยมเปลี่ยนไป ผู้ชายที่รับใช้ในวังต้องเป็นขันที ถือว่าเป็นคนที่มีหน้ามีตามาก พอถึงยุคสมัยราชวงศ์ชุ้ย ทางการยกเลิกโทษการ ตอน ดังนั้นคนที่เป็นขันทีต้อง ตอน ตัวเอง

ในรัชสมัยของมู่หวัง (976-920 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) แห่งราชวงศ์โจว จนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิอิงจง (ค.ศ. 1457-1464) แห่งราชวงศ์หมิง ปรากฏหลักฐานว่า มีการลงโทษ ด้วยการ'การตัดอวัยวะเพศ' หรือที่เรียกกันว่า'การลงโทษของราชสำนัก' ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแห่งความทารุณนี้ ได้แก่ เชลยศึก ข้าราชการที่จักรพรรดิไม่ทรงพอพระทัย หรือแม้แต่ลูกชายของชาวบ้านทั่วไป ที่ถูกนำมาเป็นทาสของบรรดาผู้ปกครอง

ขันทีจีนยุคสุดท้ายแห่งราชสำนักชิงขันที หรือ ไท่เจี้ยน หมายถึง ชายที่ถูกตอน ทำงานหลายอย่างที่สตรีเพศทำไม่ได้ ในพระราชวังในจีนมีหน้าที่ควบคุมนางในฝ่ายพระราชฐาน และบางครั้งจะขับลำนำถวายฮ่องเต้ก่อนเข้าที่บรรทม

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องทางโลกแล้ว ขันทียังมีหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาให้กับฮ่องเต้ในการปกครองบ้านเมือง โดยในบางยุคสมัยก็เป็นเพราะขันทีที่เอาแต่ปรนเปรอฮ่องเต้จนบ้านเมืองอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพจนนำมาสู่การล่มสลายของบ้านเมือง เช่น ยุคสามก๊ก หรือ ปลายราชวงศ์หมิง หรือ ปลายราชวงศ์ชิง

อนึ่ง ขันทีมีอยู่สองประเภท คือถูกตอนโดยตัดแค่ปลายองคชาตเท่านั้น แต่ยังเหลือพวงอัณฑะอยู่ ขันทีประเภทนี้ ยังเหลือฮอร์โมนเพศชายอยู่มากมาย เสียงยังห้าวแบบชาย ซึ่งจะได้อนุญาตให้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่การงานได้เฉพาะเขตพระราชฐานชั้นนอกเท่านั้น

ส่วนขันทีที่ถูกตอนโดยตัดทิ้งทั้งพวง เสียงจะแหลมเล็ก ลูกกระเดือกหายไป ฮอร์โมนเพศชายหมดไป พวกนี้จะได้รับความไว้ใจสูงกว่า และสามารถปฏิบัติงานในเขตพระราชฐานชั้นใน
      
อย่างไรก็ตาม กลับมีชายอกสามศอกจำนวนไม่น้อย ทั้งที่ถูกบังคับ หลอกลวง จนถึงสมัครใจ  ตัด สัญลักษณ์ของความเป็นชายออกไป

แม้ว่าภายในวังหลวง จะมีนางสนมกำนัลจำนวนมาก ที่ทำหน้าที่ปรนนิบัติ รับใช้จักรพรรดิและเครือญาติ แต่งานบางอย่างก็ต้องอาศัยแรงงานของผู้ชาย

เนื่องจากสาวชาววังส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอะเจอกับผู้ชาย จึงเกรงกันว่าอาจเกิดปัญหาตามมาภายหลัง ชายฉกรรจ์ที่ต้องการเข้ามาทำงานในวัง จึงต้องผ่าน ขั้นตอนสุดโหด เพื่อให้หมดความสนใจในเพศตรงข้ามเสียก่อน

ทั้งนี้ จักรพรรดิหลายองค์ยังมีความเชื่อว่า "ผู้ชายที่ไม่ ( สามารถ) มีลูกเมีย จะเป็นทาสรับใช้ที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดีที่สุด"

จักรพรรดิหลายองค์จะเห็นอกเห็นใจในการเสียสละอันใหญ่ยิ่งนี้ และก็ทรงไว้ใจอย่างยิ่งที่ไม่มีเรื่องกับบรรดานางสนมรวมทั้งมเหสี อีกทั้งมีความสงสารเป็นพิเศษอีกด้วย ต่อมา ขันทีในกลายเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งต่างหากจากข้าราชการทั้งหลาย มีสำนักศึกษาเอง คัดเลือกบุคคลที่ฉลาดและหน้าตาดีเข้ามาเป็น พวกนี้บางคนมีความรู้ดีมาก ไม่ยิ่งหย่อนกว่าพวกข้าราชการ ดังนั้น ไม่น่าแปลกอะไรที่พวกขันทีได้มีโอกาสควบคุมราชการบ้านเมืองโดยทางอ้อมหรือทางตรง

ตามบันทึกที่เชื่อถือได้ ในสมัยราชวงศ์เชง ปักกิ่งมีคลินิกผ่าตัดให้เป็นขันทีอยู่หลายร้าน ค่าผ่าตัดเป็นเงิน 6 ตำลึง ( 200 กรัมเศษ ) การผ่าตัดจะมีผู้ช่วยหมอสามคน คนหนึ่งจับขา คนหนึ่งจับแขน คนหนึ่งจับเอว หมอจะใช้มีดที่เป็นรูปเคียว

จัดการตัดและกรีดลูกอัณฑะออกอย่างรวดเร็ว แล้วใช้กระดาษบางแช่สุราต้มพริกไทยปิดไว้หลายๆชั้น เมื่อสามวันแล้วจึงค่อยๆเอากระดาษออกทีละแผ่นกระทั่งหมด และจะหายเป็นปรกติภายหลังสามเดือน สิ่งที่น่าแปลกใจมากคือ ผู้ที่มาผ่าตัดมีอัตราการตายเพียง2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

หลังจากตัดเสร็จแล้ว ก็ต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี  บ้างนำติดตัวไว้  เพราะมีความเชื่อว่าหลังจากเสียชีวิตแล้ว ขันทีจะต้องเอาฝังรวมไปกับศพด้วย เพื่อให้ชาติหน้าเกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ดังเดิม

ในปี ค.ศ.1870 สตินได้ลงพื้นที่เข้าไปสืบค้นเรื่องราวของบรรดาขันทีถึงในปักกิ่ง ข้าราชการชาวอังกฤษผู้นี้บันทึกว่า คนจีนมีคติความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ร่างกาย เส้นผม ผิวหนัง ของคนเรา เป็นของล้ำค่าที่พ่อแม่มอบให้ จึงต้องดูแลรักษาอย่างดี

ดังนั้น หากแม้นมิอาจรักษาไว้กับตัวแล้ว ก็จำต้องเก็บรักษา  ชิ้นส่วน นี้ไว้ต่อไปจนกว่าจะตาย
      
สำหรับวิธีการเก็บมีสามวิธี วิธีแรกคือ การใส่เก็บไว้ในกล่องที่ทำจากไม้และวางบนคานหลังคาบ้าน ราวกับเป็น ของสูงส่วนวิธีที่สองคือ นำไปตั้งรวมไว้กับศาลประจำตระกูล เสมือนเป็นการแสดงความเคารพในบรรพบุรุษที่มอบชีวิตและร่างกายให้ วิธีที่สามคือ ฝากคนตัดเก็บไว้ รอให้เจ้าของ นำเงินมาไถ่ถอนคืน หลังจากไปได้ดิบได้ดีในวังหลวงแล้ว
      
อย่างไรก็ดี ตามความเชื่อโบราณ ทันทีที่ขันทีได้จากโลกนี้ไปแล้ว จะต้องนำ ชิ้นส่วน ที่ขาดไปมาเย็บติดที่เดิม มิฉะนั้นวิญญาณจะไม่มีหน้าไปพบบรรพบุรุษ หนำช้ำจะถูกพระยายมลงโทษให้ชาติหน้าเกิดเป็นวัวควายเพศเมีย
      
แต่บางครั้งด้วยเหตุผลนานาประการ ก็อาจทำให้ขันทีผู้นั้น ไม่มีโอกาสได้พบกับ น้องชาย ที่พลัดพรากจากกันหลายปี ดังนั้นจึงต้องทำ ของปลอม ที่ทำจากกระเบื้องขึ้นมาใหม่และฝังไปพร้อมกัน

ขันทีจะถูกปลดเกษียณเมื่ออายุครบ 70 แล้วไปอยู่ที่ศาลาขันทีโดยไม่ต้องเสียค่ากินอยู่ใดๆ พวกขันทีจะมีเสียงพูดและท่าเดินเหมือนกับผู้หญิง ปรกติในพระราชวังจะมีขันทีอยู่ประมาณ 700 ถึง 1,000 คน แต่สมัยราชวงศ์เหม็งเคยมีถึง 2 หมื่นกว่าคน โดยควรจะถือว่าเป็นยุคทองของขันที
      

ขันทีคนสุดท้าย

ในสมัยหมิงและชิง ( ค.ศ. 1644-1911 ) สองราชวงศ์สุดท้ายของจีน กลับมีชายหนุ่มจำนวนไม่น้อย สมัครใจเข้าเป็นขันที

ส่วนมากมีสาเหตุมาจากความยากจน โดยขันทีคนสุดท้ายของจีน คือ ซุนเหย้าถิง เขาเกิดในรัชสมัยของจักรพรรดิกวางสู่ (ค.ศ. 1875-1908) แห่งราชวงศ์ชิง

ขันทีคนสุดท้ายของจีน เกิดในรัชสมัยของจักรพรรดิกวางสู่ ( ค.ศ.1875-1908) แห่งราชวงศ์ชิง ในครอบครัวที่ยากจนข้นแค้น วันหนึ่งพ่อและพี่ชายถูกเจ้าที่ดินกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายป้ายสี จนต้องเข้าคุก คนในบ้านทั้งหมดต้องหนีภัยไปอยู่ต่างถิ่น

เมื่อหมดสิ้นหนทาง ซุนเหย้าถิง จึงตัดสินใจเข้าวังเป็นขันที โดยหวังว่าสักวันจะต้องล้างแค้นคนที่ทำร้ายครอบครัวตนให้ได้
      
ในทศวรรษที่ 60 นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้เชิญขันที 15 คน มาพูดคุยเรื่องราวในชีวิตของพวกเขาให้ฟังเริ่นฝูเถียน บอกว่า ในยุคนั้นหลายอำเภอของมณฑลเหอเป่ย มณฑลซันตง หรือแม้แต่แถบชานเมืองปักกิ่ง เช่น ชางผิง ผิงกู่ ล้วนแต่เป็นถิ่นกำเนิดของไท่เจี้ยน การเข้าวังเป็นขันทีหรือไท่เจี้ยน เป็นหนทางเดียวที่ทำให้ชีวิตอยู่รอด
      
หม่าเต๋อชิง เล่าว่า ครอบครัวฐานะยากจนมาก อดมื้อกินมื้อ พ่อเป็นพ่อค้าขายกอเอี๊ยะ เมื่อเห็นว่า หลี่อี้ว์ถิง ญาติห่างๆคนหนึ่งของตน'ได้ดิบได้ดี' หลังจากเข้าวังเป็นขันทีได้เพียงไม่นาน พ่อก็เกิดความคิดอยากให้หม่าเดินตามรอยหลี่อี้ว์ถิง บ้างและในที่สุด พ่อแม่ของหม่าก็ตัดใจส่งลูกชายเข้าวัง
แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่หลายคนตัดใจให้ลูกชายเป็นขันที ฉือห้วนชิง อธิบายว่าเป็นเพราะเชื่อคำของพวกมีอาชีพคล้ายนายหน้าหาคนเป็นขันที ตลอดจนหน้าที่ที่เรียกกันว่า 'การชำระร่างกาย' ซึ่งก็หมายถึง 'การตัดอวัยวะเพศ' นั่นเอง

คนเหล่านี้จะพูดถึงแต่ข้อดีของการเป็นขันทีหรือไท่เจี้ยนจนเกินจริง ในที่นี้ไม่นับพวกที่ตั้งใจมาเป็นขันที เพื่อหลบหนีโทษทัณฑ์ต่างๆกว่าจะได้เป็นขันที ต้องมีขั้นตอนพอสมควร ตามบันทึก "เฉินหยวนจ๋าซื่อ" ก่อนอื่น ต้องมีขันทีชั้นผู้ใหญ่ให้การรับรอง โดยมี หนังสือยินยอมการตัด พร้อมลายเซ็นของผู้ที่จะเข้ามาเป็นไท่เจี้ยน เป็นหลักฐานยืนยัน แต่แน่นอนว่า มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการการตัดสินใจดังกล่าว

ที่สุดแล้ว ขันที ก็ถึงคราวอวสานไปพร้อมๆกับการล่มสลายของราชวงศ์จีน

เรื่องราวดังกล่าวถูกนำมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ "ขันทีคนสุดท้าย" ถูกจัดพิมพ์และแปลเป็นหลายภาษาทั่วโลก โดยหนังสือ

เล่าถึงอัตชีวประวัติของท่านผู้เฒ่า"ซุนเหย้าถิง" ขันทีแห่งราชสำนักจีนคนสุดท้ายของโลก

นอกจากนี้ ยังมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ชื่อว่า ขันทีคนสุดท้าย ซึ่งตัวหนังบอกเล่าและแสดงอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้ง สะเทือนอารมณ์จนได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชม

นักโบราณคดีค้นพบว่าจากบริเวณศีรษะของศพคนตายสมัยโบราณ ที่มักมีเครื่องป้องกันอยู่ บริเวณ องคชาต ก็เป็นอีกตำแหน่งหนึ่งที่ได้รับการปกปิดเป็นพิเศษ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าชาวจีนให้ความสำคัญต่อการสืบทอดวงศ์ตระกูลมากเพียงใด

การเป็นขันทีจึงถือว่ามีความกล้าหาญและเสียสละอย่างมาก  ทั้งความเจ็บปวดของร่างกาย ซึ่งอาจะมากแต่คงไม่เท่ากับความเจ็บปวดของจิตใจ ในแง่ของการถูกนินทา ว่าร้าย ถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดในสังคม รวมทั้งการไม่สามารถสืบสกุลให้ครอบครัวได้ ซึ่งชาวจีนถือในเรื่องนี้มาก ถึงขนาดว่ากล่าวว่าเป็น ลูกอกตัญญู

ขันที  อาจเป็นเพียงตำนานบทหนึ่งของชนชาติจีน  ที่หลายคนอาจหลงลืมและไม่ได้ให้ความสลักสำคัญอะไร  กับคนที่จะชายก็ไม่ใช่ หญิงก็ไม่เชิง และบาดแผลในใจ ที่คนธรรมดายากจะเข้าใจ กระนั้น เชื่อว่าต้องมีหลายคนที่มีความรู้สึกเห็นใจพวกเขา

No comments: