Wednesday, November 14, 2007

:: u n z e e n :: ร้อนใน แผลในปาก

[]

[J][A][A]

~ กลุ่มเมล์อันซีน ~
สาระน่ารู้ รื่นเริง บันเทิงใจ
สมัครรับเมลล์ ไปที่เว็บไซท์ ' http://groups.google.com/group/unzeen '
หรือส่งเมลล์เปล่าไปที่ ' unzeen-subscribe@googlegroups.com '

 

ร้อนใน-แผลในปาก -= Byหมอแมว=-

 

เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักแผลที่เรียกว่า"แผลร้อนใน"กันเป็นอย่างดี เจ้าแผลเล็กๆที่ขึ้นตามตำแหน่งต่างๆในปากพร้อมกับความเจ็บปวดที่เหลือรับ

 

แต่ถ้ามันเป็นแค่เรื่องธรรมดา ผมก็คงไม่ต้องมาเขียนกัน ... เพราะความที่มันไม่ธรรมดาอยู่นี่ล่ะที่ทำให้ต้องเอามาเป็นหัวข้อกัน

 

แผลในปาก ไม่เท่ากับ แผลร้อนใน

 

แผลร้อนในหรือ Aphthous ulcer จัดอยู่ในโรคที่ถือกันว่ายังไม่ทราบสาเหตุ ... หลายคนอาจจะค้านแย้งอยู่ในใจว่าสาเหตุมีตั้งหลายอย่าง หลายอย่างเขียนในหนังสือนิตยสารหรือในอินเตอร์เนท

 

เราจะมาแยกประเด็นเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

 

แผลร้อนในที่เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่ใช้กัน มักเป็นการเรียกแผลที่เกิดขึ้นในปาก โดยไม่คำนึงว่ามันเกิดจากอะไร จะผุดมาเองหรือมีสาเหตุก็เรียกร้อนในหมด

 

แผลร้อนในตามรากศัพท์เดิม จะตามแพทย์แผนไทยแผนจีน มักจะใช้เรียกแผลที่เกิดในปากโดยที่มันผุดขึ้นมาเอง ถ้ารู้สาเหตุก็เรียกเป็นแผลในปากที่เกิดจากสาเหตุนั้นๆ

 

แผลร้อนในแบบแพทย์ตะวันตก Aphthae จะเป็นการเรียกกลุ่มโรคที่เกิดแผลในปากที่ไม่ทราบสาเหตุ เกิดแผลขึ้นมาในปากเป็นเวลา7-14วันแล้วค่อยๆหายไป อาจจะเกิดซ้ำได้ในเวลา1-2เดือน มักพบว่ามีประวัติคนในครอบครัวที่มีอาการเดียวกัน

 

ส่วนแผลในปากแบบอื่นๆ หากพบสาเหตุ เค้าก็จะจับจัดกลุ่มเสีย ไม่เรียกว่าแผลร้อนใน (ก็รู้สาเหตุแล้วนี่นา)

 

แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอย่างไร จะเรียกว่าแผลในปาก จะเรียกว่าร้อนใน ก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าถ้าเป็นแผลร้อนในธรรมดานั้นไม่มีปัญหา เพราะรักษาหรือไม่รักษาก็หายได้ทั้งนั้น ปัญหาอยู่ที่ว่า แล้วถ้ามันไม่ได้เป็นแค่แผลร้อนในล่ะ!

 

แผลในปากเกิดจากอะไรได้บ้าง

 

1. แผลร้อนใน : แผลที่เกิดขึ้นมาเอง ลักษณะจำเพาะที่เจอบ่อยคือ เกิดขึ้นเอง มักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 10-30ปี มีคนในครอบครัวเคยเป็น อาจจะมีอาการไข้ต่ำๆเจ็บคอได้บ้าง แต่ไม่ควรมีอาการอื่นๆนอกเหนือจากนั้นมากนัก

 

2. แผลจากการบดขยี้เสียดสี :ที่พบได้บ่อยคือการเกิดแผลตามหลังการกัดไปถูกปาก หรือการถูกกระทบกระทกจากภายนอก ... อีกอย่างที่ต้องคำนึงถึงไว้คือการเคี้ยวกลืนอาหารแข็งแห้งเช่นขนมกรุบกรอบที่ทำให้เกิดแผลเล็กที่ไม่รู้สึกในตอนแรกได้ง่าย

 

3. แผลจากโรคติดเชื้อ : ที่พบบ่อยๆก็คือเรื่องเชื้อไวรัสโดยเฉพาะพวกเริม แต่ก็มีโรคอีกหลายตัวที่ทำให้เกิดแผลในปากได้ เช่นซิฟิลิส มือเท้าปาก เชื้อรา ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องอาศัยประวัติอาการ และอาการที่เกิดร่วมกันในการประเมิน

 

4. แผลจากโรคกลุ่มภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ : เช่นSLE(โรคแพ้ภูมิตนเอง ,โรคพุ่มพวง) Reiter''s , Behcet''s

 

5. แผลมะเร็ง : ตรงตัว

 

6. แผลจากการแพ้หรือระคายเคือง : การแพ้สารบางตัวก่อให้เกิดการอักเสบของผิวปากได้ และการระคายเคืองจากสารต่างๆก็ทำได้เช่นกัน โดยทำให้เนื้อเยื่อเกิดความอ่อนแอลงและเกิดแผลได้ง่าย

 

7. แผลจากยา : ยาบางชนิดเช่นยาแก้ปวดกลุ่มNSAIDsและยาลดความดันกลุ่มเบต้าบล๊อคเกอร์ทำให้เกิดแผลได้โดยที่ไม่เกี่ยวกับการแพ้

 

มีแผลร้อนในแล้วทำอย่างไรดี

 

อย่างที่บอกสาเหตุไว้หลายอย่าง ปัญหาที่เจอก็คือเวลาเป็นแผลในปากขึ้นมาแล้ว ไม่มีใครรู้หรอกครับว่าตนเองเป็นแผลจากเหตุใด เพราะแผลมันก็คือแผล แต่กระนั้นก็เกิดปัญหาตามมาจนได้

 

บางคนเป็นแผลแค่วันสองวัน กลัวจะเป็นโน่นเป็นนี่ แสวงหาการรักษาโดยวิธีต่างๆจนแทนที่จะหายกลับกลายเป็นเป็นหนักและนานเสียยิ่งกว่าเดิม

 

บางคนเป็นแผลสองปีสามปี ยังนิ่งนอนใจ ไม่เกรงกลัวมะเร็งเลย

 

ผมจึงขอเสนอขั้นตอนง่ายๆเพื่อใช้ในการประเมินแผลในปากของคุณและการแสวงหาการรักษาด้วยตนเอง

 

- ถ้ามีไข้ตัวร้อน ปวดตามข้อ ผมร่วง รู้สึกไม่สบาย อย่างชัดเจนหรือไม่ ถ้ามีก็ไปพบแพทย์ได้เลยเพราะว่าเจ้าแผลในปากอาจจะเป็นแค่อาการร่วมของโรคก็ได้

 

- ดูว่ามีการกินอาหารที่กรอบแข็งหรือไม่ แปรงที่ใช้แข็งเกินไปหรือไม่ ถ้ามีก็ให้เปลี่ยนเป็นอาหารอ่อนและแปรงขนอ่อน เพราะอาหารและเครื่องใช้ที่ไม่เหมาะสม นอกจากจะทำให้เกิดแผลยังสามารถทำให้แผลหายช้าได้ด้วย (ดังนั้นควรหยุดกินขนมกรุบกรอบหรือของทอดกรอบๆในระหว่างมีแผล)

 

- อาหารรสจัด อาหารรสจัดโดยเฉพาะพวกที่เผ็ดๆสามารถทำให้กระพุ้งแก้มหรือริมฝีปากบวมเล็กน้อยเสี่ยงต่อการไปกัดเข้า ... นอกจากนี้การกินอาหารรสจัดๆก็ทำให้แผลหายช้า

 

- ใช้น้ำยาบ้วนปากเช่นพวกคลอเฮกซิดีน หรือน้ำอุ่นผสมเกลือ(ผสมเล็กน้อย) อาจจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นบ้าง

 

- ยาป้าย จำพวกสเตียรอยด์(ที่รูจักกันดีเช่นคีนาล๊อค)ก็สามารถใช้ได้หากมีแผลในปากโดยที่ไม่ได้มีอาการอื่นใดเวลาใช้ก็อุดโป๊ะลงไปในรูแผลเลย เพราะนอกจากให้ยาสัมผัสแผลเต็มที่ ยาใหม่ๆก็มักผสมยาชาไปด้วยทำให้เจ็บลดลง

 

- ยาชา ...แผลร้อนในมันทรมานตรงความเจ็บปวดและกินอาหารไม่สะดวก แม้ว่าจะไม่มียาพวกนี้ขายแพร่หลายทั่วไปในลักษณะยาทาแผลร้อนใน แต่ก็สามารถทดแทนได้ด้วยการหายาชาที่ใช้แก้ปวดฟันที่ขายตามร้านขายยาทั่วไปมาใช้ได้ ครับ

 

- ถ้ารักษาไปสัก1สัปดาห์ยังไม่ดีขึ้น หรือระหว่างนั้นเกิดอาการผิดสังเกต แผลใหญ่โตขึ้นเร็ว แผลเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีไข้ตัวร้อนเจ็บปากเจ็บคอ ก็ไปพบแพทย์ได้เลย

 

-ใครก็ตามที่มีญาติผู้ใหญ่ที่มีแผลในปากมานานหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคี้ยวหมาก ควรพาไปพบแพทย์

 

- เรื่องสารSLSที่ผสมในยาสีฟันที่บางคนกังวลว่าอาจจะเป็นสาเหตุของร้อนใน ปัจจุบันการทดลองยังไม่ได้ผลที่แน่ชัดครับ ดังนั้นถ้าไม่สบายใจจะเปลี่ยนหรืองดการใช้ยาสีฟันระหว่างรักษาแผลก็ได้

 

ประเด็นที่ควรบอกแพทย์

 

หากทำการรักษาด้วยตนเองแล้วไม่หายในช่วง 1-2 สัปดาห์ ก็น่าจะลองไปพบแพทย์ ... แต่ถ้าไปเฉยๆโดยไม่ได้เตรียมตัว แพทย์อาจจะแนะนำให้กลับไปป้ายยาดูอาการที่บ้านเฉยๆ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเที่ยวก็ควรเตรียมตัวเรื่องการบอกเล่าประวัติต่างๆดังนี้

 

- อาการร่วม เช่นปวดข้อมาก ผมร่วง มีผื่นตามผิวหนัง ท้องเสีย ซึ่งอาจจะทำให้นึกถึงโรคกลุ่มภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติหรือแพ้ภูมิตนเอง

 

- เกิดตำแหน่งเดิมหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้นึกถึงโรคเริม

 

- เจ็บแผลหรือไม่ เพราะแผลในปากนั้นควรจะเจ็บ ส่วนแผลที่ไม่เจ็บมักจะต้องระวังโรคที่อันตรายไว้เช่นมะเร็งหรือ SLE

 

- เป็นมานานเพียงใด ให้นับช่วงเวลาตั้งแต่แผลนั้นเริ่มมีขึ้นมาแล้วยังไม่หาย... ไม่นับรวมแผลที่ขึ้นมาแล้วหายไปแล้วมาขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ระมัดระวังการบอกเวลาเกินจริง

 

- รักษาอะไรมาแล้วบ้าง เพราะถ้าแพทย์รู้ว่าเราระวังรักษาดูแลอย่างถูกต้องมาแล้วระยะนึงไม่หายหรือใช้ยาใดไปแล้วไม่หาย ก็จะได้ประมาณกำหนดวิธีการรักษาได้

 

จะเห็นได้ว่าแผลร้อนในเล็กๆที่ดูไม่ค่อยมีความสำคัญอะไรก็มีแง่มุมที่น่ารู้หลายอย่าง หวังว่าทุกคนคงนำไปใช้ได้นะครับ


' เคลียร์เมลล์บ๊อกซ์ให้ว่าง เพื่อรับเมลล์ดีๆ แบบนี้ทุกวัน '

No comments: