อีสุกอีใส.. วายร้ายหน้าหนาว
โรคสุกใส หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกว่าโรคอีสุกอีใส เป็นเชื้อไวรัส มีชื่อทางการแพทย์ว่า Varicella Zoster
จะระบาดในช่วงเข้าฤดูหนาวซึ่งมีโอกาสเย็นและแห้ง ทำให้ไวรัสกระจายตัวได้ง่าย จึงสามารถติดต่อกันผ่านลมหายใจ และการสัมผัสใกล้ชิดกัน พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร หัวหนากุมารแพทย์ สถาบันกุมารเวช โรงพยาบาลสมติเวช กล่าวว่า การที่ผู้ปกครองอยากให้เจ้าตัวเล็กเป็นสุกใสในวัยเด็ก เพราะส่วนใหญ่มีอาการไข้และตุ่มใสรวมทั้งแผลเป็นน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก นอกจากภูมิต้านทานโรคที่ได้รับจากแม่ตั้งแต่เกิดยังมีอยู่ในตัวเด็ก ผู้ใหญ่จึงมักให้เด็กไปกอดผู้ที่เป็นโรคนี้ ซึ่งไม่สมควร เพราะไม่รู้ว่าขณะนั้นผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อนอื่นด้วยหรือไม่ ทำให้เสี่ยงต่อการติดโรคแทรกซ้อนที่อาจมีแถมมาด้วย
และอย่างที่กล่าวแล้วว่า หากเด็กเป็นสุกใสจะมีอาการไม่รุนแรงเป็นส่วนใหญ่ แต่อยากขอร้อง ผู้ปกครองไม่ให้เด็กไปโรงเรียนแม้อาการไม่มาก
ขอให้อยู่บ้านหรือไม่ให้ไปแจกโรคกับเพื่อน ๆ เพราะถือเป็นโรคติดต่ออย่างหนึ่ง การฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใสเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมาก และสามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป แต่ยายังมีอาการแพง ประเทศของเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา ถ้าคิดในแง่รายได้ส่วนรวม ของคนทั่วประเทศแล้ว เราไม่มีเงินจะมาซื้อวัคซีนแพงๆ เพื่อป้องกันโรคนี้ ซึ่งอัตราความรุนแรงจะน้อยกว่าโรคชนิดอื่นๆ ในเด็กเล็ก แต่สำหรับเด็กและผู้ใหญ่
ทางสมาคมกุมารและราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า หากอายุมากกว่า 10 ปี ถ้ายังไม่เป็นโรคนี้
ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนจะดีกว่า เพราะถ้าปล่อยให้เป็นโรคสุกใส อาการจะรุนแรงกว่าเด็กเล็กมาก เช่น ปวดเมื่อย มีไข้สูง ไม่มีแรง เป็นแผลเป็นง่าย ต้องหยุดเรียนหรือหยุดงานอย่างน้อยเป็นสัปดาห์ เพราะเป็นโรคติดต่อ ถ้าเป็นมากอาจถึงต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายแพงกว่าวัคซีนมาก สำหรับคนที่เคยเป็นแล้ว แต่มีภูมิต้านทานต่ำและร่างกายอ่อนแอ เมื่อไปใกล้ชิดกับผู้เป็นโรคนี้ ก็อาจติดเชื้อได้ แต่จะมาในรูปของโรคงูสวัสดิ ซึ่งก็คือไวรัสตัวเดียวกัน การรักษาโรคุกใสจะเป็นการแก้ไขตามอาการ
โดยแพทย์จะตรวจและทำการวินิจฉัยว่ามีโรคแทรกซ้อนอยู่ด้วยหรือไม่ เช่น การอักเสบที่ผิวหนังเพราะปล่อยให้สกปรกด้วยความเชื่อว่าไม่ควรอาบน้ำ
การแกะเกาแผลเพราะอาการคัน ซึ่งไม่ควรทำเพราะมือและเล็บอาจสกปรก การจิ่มตุ่มใสให้แตกก่อนเวลา เป็นต้น เพราะการกระทำ ดังกล่าวข้างต้น จะทำให้แผลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดหนอง ทำให้แผลลึกลงไปจนเกิดเป็นแผลเป็นได้ ดังนั้นควรปล่อยให้ตุ่มใสแตกเองตามขั้นตอนจะไม่ทำให้เป็นแผลเป็น ตัดเล็บให้สั้น รักษาความสะอาดด้วย น้ำถูสบู่ หรืออาจใช้สบู่ผสมยาฆ่าเชื้อ และยาแต้มแผลรวมทั้งให้ยาแก้คันหรือแก้อักเสบตามที่แพทย์จัดให้
หากแพทย์เห็นว่าอาการของโรครุนรงหรือมีโรคแทรกซ้อน
อาจให้ยาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง หรืออาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล พญ.สมสิริ ได้กล่าวทิ้งไว้ว่า การอาบน้ำผสมยาเขียว รากผักชี ฯลฯ อาจมีผลหรือไม่มีผลในการช่วยรักษาโรคตามความเชื่อ ยา เขียวก็เป็นเพียงยาลดไข้อย่างหนึ่งเท่านั้น ควรอาบน้ำฟอกสบู่ทุกวันเพื่อให้ร่างกายสะอาด และเพื่อป้องกันไม่ให้เสื้อผ้าไปถูไถกับแผล จึงไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่หยาบและหนามากนัก ให้อยู่ในที่ที่อากาศเย็น เพื่อลดอาการคัน ถ้าอาการของโรครุนแรงก็ควรต้องอยูในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีโรคแทรก ซ้อนที่เป็นอันตรายได้
No comments:
Post a Comment