skip to main |
skip to sidebar
:: u n z e e n :: เลิกซะที ..นิสัยขี้กังวล
การเป็นแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งมีลูกคนแรก ย่อมห่วงลูกไปสารพัดจนเข้าขั้นเป็นคุณแม่ขี้กังวล หากอาการกังวลนี้เกิดขึ้นเพียงช่วงแรกๆ ที่คุณแม่ยังปรับตัวไม่ได้ไม่เป็นไรแต่หากปล่อยไว้จนกลายเป็นนิสัยย่อมไม่ดีแน่ค่ะ
เหตุเกิดที่ใจ นักจิตวิทยาบอกไว้ว่า ความกังวลที่เกิดกับคนเรามีที่มาจาก 2 ปัจจัยใหญ่ๆ คือเกิดจากปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมหรือข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถปรับตัวยอมรับได้ง่ายๆ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ โรคระบาด หรือสถานการณ์รอบตัว อย่างเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นต้นเหตุสำคัญของความกังวล และมีอิทธิพลต่อตัวเรามากที่สุดแต่สามารถควบคุมได้นั่นก็คือ เกิดจากจิตใจของเราเอง ซึ่งที่มาของความกังวลที่เกิดจากเหตุภายในใจของคนเป็นแม่ก็มีหลากหลาย ได้แก่ ความกลัว จิตใจของเรากลัวว่าจะไม่สามารผ่านพ้นสถานการณ์นั้นๆ ได้ แต่ว่าความกลัวนี้ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ เหมือนกับปริ่มๆ ที่จะกลัว อาการแบบนี้เลยกลายเป็นความกังวลแทน ความคาดหวัง แต่เป็นความคาดหวังที่คิดว่าอาจจะเข้าไปไม่ถึงความจริง อะไรก็ตามที่เกินจริงย่อมสร้างความกังวลให้เกิดขึ้นภายในจิตใจแน่นอน การยึดติด ภาษาธรรมะเรียกอย่างนั้นค่ะแต่ภาษาจิตวิทยาเรียกว่า "ความใส่ใจ" (Conceern) ถ้าเรายึดติดอะไรมากๆ หรือให้ความสำคัญกับเรื่องนั้นโดยที่ไม่สามารถวางใจให้เป้นกลางได้ไม่สามารถยอมรับว่าธรรมชาติของชีวิตแบบนี้ ความกังวลก็จะเพิ่มมากขึ้น ไม่มีเหตุผลในการแก้ปัญหา แต่ละคนมีสติใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาไม่เท่ากัน คนที่ปล่อยอารมณ์ง่ายๆ ยั้งใจตัวเองไม่ได้ ใช้เหตุผลไม่เป็นก็จะกังวลใจมากกว่าคนที่รู้จักยับยั้งชั่งใจ
Fight vs. Fly แม้ความกังวลที่เกิดขึ้นจะเป็นความรู้สึกภายในจิตใจของคุณแม่แต่เชื่อไหมว่าคุณแม่ไม่สามารถเก็บความกังวลเหล่านั้นไว้ในใจได้หรอกค่ะ ต้องมีการแสดงออกให้คนรอบข้างรับรู้หรือสังเกตเห็นบ้าง บางครั้งการแสดงออกด้วยท่าทีต่างๆ นั้น คุณแม่อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเองก็ได้ อาการที่คุณแม่ขี้กังวลส่วนใหญ่แสดงออกมานั้นมักจะออกมาในรูปแบบของอาการเครียด ตื่นเต้น กระสับกระส่าย ตกใจง่าย ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย อาจจะมีเหงื่อออก ใจสั่น อาการของระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากขึ้น เช่น เข้าห้องน้ำบ่อยๆ หรือว่าท้องผูก เจ็บตรงนั้นตรงนี้ เหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะ ขณะเดียวกันสิ่งที่คุณแม่จะแสดงออกต่อลูกโดยตรงมีด้วยกัน 2 แบบค่ะ แบบแรกคุณแม่ที่กังวลจะสนใจลูกมาก จนกระทั่งไม่สามารถใช้ชีวิตด้านอื่นได้อย่างมีความสุข เพราะกังวลเรื่องลูกอยู่ตลอดเวลา กินไมได้ นอนไม่หลับ แม่บางคนอาจกังวลจนถึงขั้นวิกฤติ สิ้นหวัง หมดกำลังใจ คิดว่าตัวเองดูแลลูกไม่ได้แน่ๆ จนในที่สุดหนีห่างจากลูก ความกังวลของแม่ที่แสดงออกแบบนี้เรียกว่า "Fly" ค่ะ ขณะที่คุณแม่อีกแบบหนึ่งกลับเป็นกลุ่มที่กังวลแล้ว "Fight" ต่อสู้สุดฤทธิ์เพื่อทำทุกอย่างที่ดีที่สุดให้ลูก แม่กลุ่มนี้การแสดงออกมาจะมาในรูปแบบปกป้องหรือดูแลลูกจนเกินเหตุซึ่งอาการทั้ง 2 กลุ่มนี้ล้วนเกิดจากกลไกทางจิตของแม่ ที่ทำให้แม่แสดงออกต่อตัวลูกโดยตรงค่ะ
เท่าทันใจและปล่อยวาง ครั้งหนึ่งที่ได้อ่านหนังสือเข็มทิศชีวิต ของคุณฐิตินาถ ณ พัทลุง หลังอ่านจบแล้วก็พอรู้ว่าคนเราย่อมมีทุกข์ แต่การที่จะรู้เหตุแห่งทุกข์และวิธีการปล่อยวางทุกข์นั้นเล่า ที่เราไม่รู้ว่าแต่ละคนมีวิธีการอย่างไร แต่เมื่อมีโอกาสพบและพูดคุยกับคุณฐิตินาถจึงค่อยเข้าใจการเท่าทันใจและปล่อยวางมากขึ้น เพราะเธออธิบายให้ฟังว่า "จิตใจของคนเรามีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา บางครั้งตัวของเราอยู่ที่หนึ่ง เช่นกำลังนั่งอยู่ในรถ แต่จิตใจของเรากลับวิ่งไปได้ทุกที่ที่ความนึกคิดของเราอยากจะให้ไป เพราะฉะนั้นคนเราไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทำอะไรควรจะหมั่นสำรวจจิตใจของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร คิดอะไร และแสดงออกมาอย่างไร ซึ่งจะทำให้เรามีสติอยู่ตลอดเวลา" วิธีการเท่าทันจิตใจตัวเองแบบฉบับของคุณฐิตินาถนั้นสามารถฝึกได้ด้วยการหมั้นสำรวจจิตใจของตัวเองไปพร้อมๆ กับการดึงใจกลับมาด้วยกลอนบทนี้ค่ะ "ดูจิตดูใจ ดูไว้ให้ดี ดูจิตตรงนี้ ตรงที่ไหลไป ไหลทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ไหลไปทางไหน ใจก็รู้ตาม รู้สึกอย่างไร รู้ไปตานั้น เผลอก็รู้ทัน ตื่นพลันทันใด" และเมื่อรู้เหตุแห่งทุกข์หรือต้นตอความกังวลเสียแล้ว คุณแม่ก็ควรฝึกปล่อยวาง ทุกข์ตรงไหนวางตรงนั้น หลีกจากความกังวลนั้น การใส่ใจรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวกับลูกเป็นเรื่องดีนะคะแต่การที่คุณแม่ขี้กังวลจนเกินไปจะส่งผลให้ลูกเป็นเด็กเลี้ยงยากขึ้น เพราะฉะนั้นคุณแม่จึงต้องมีสติรู้เท่าทันความกังวลของตัวเอง เรียนรู้ที่จะปล่อยวาง และเข้าใจธรรมชาติของชีวิตด้วยค่ะ
(update 25 มกราคม 2008)
[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Vol.12 No.144 October 2007]
No comments:
Post a Comment