เรื่อง โรคจิตคืออะไร
เขียนโดย โยธิน
คงมีผู้ที่เข้ามาอ่านหลายคนในที่นี้คงเคยถูกต่อว่า ว่าเป็นโรคจิต โรคจิตที่คนนั้นต่อว่าอาจหมายถึง คนที่ทำพฤติกรรมอะไรที่แปลกน่ารังเกียจ แต่โรคจิตที่จะกล่าวถึงในที่นี้นั้นเป็นโรคจิตที่เกี่ยวข้องกับความหมายทางการแพทย์ ซึ่งอาจมีความแตกต่างไปจากความหมายทั่วไปบ้าง
โรคจิต (psychosis)
คือ กลุ่มโรคชนิดหนึ่งที่มีอาการหลัก 3 ข้อ ดังนี้
1-แยกไม่ได้ระหว่าง ความจริง กับ สิ่งที่คิด (Out of reality)
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคจิตคนหนึ่งคิดว่า ถูกมนุษย์ต่างดาวฝังเครื่อง ส่งสัญญาณไว้ในหัว และ ฆ่าครอบครัวของผู้ป่วยทิ้งไปหมดแล้ว พ่อแม่ที่ผู้ป่วยอยู่ด้วยตอนนี้เป็นมนุษย์ต่างดาวปลอมตัวมา หรือ ผู้ป่วยคิดว่าตนเองมีสัมพันธ์กับบุคคลดังทั้งที่ความจริงตนไม่เคยรู้จักคนดังนั้นๆเลย
2-มีภาวะรับรู้สิ่งแวดล้อมผิดปกติ (Hallucination)
เช่น ได้ยินเสียงที่ไม่มีจริง เห็นภาพที่คนไม่เห็น
3-มีพฤติกรรมที่ผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด (Disorganized behaviour)
เช่น เดินแก้ผ้า ปีนเสาไฟฟ้า
อาการเหล่านี้ ถ้าเป็นโรคจิตควรมีทุกข้อ แต่มีบางข้อเช่นข้อ 2 ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคจิต เช่นกัน
สาเหตุของโรคจิต
มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคจิต แต่ไม่อาจสรุปได้ชัดว่าปัจจัยใดสำคัญที่สุด เช่น
1-ปัจจัยทางกายภาพ เช่น สารสื่อประสาทในสมอง (Neurotransmitter) มีการทำงานเปลี่ยนแปลงไป โดยสารหลักที่เชื่อกันในปัจจุบันว่าเป็นเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรคจิต คือ Dopamine และ Serotonin โดยพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทั้งปริมาณ และ การทำงานของสารเหล่านี้
2-ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่าผู้ที่มีประวัติครอบครัว ที่มีอาการของโรคจิต มีโอกาสเกิดโรคจิตได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
3-ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น ความเครียดรุนแรง เป็นสาเหตุให้เกิดโรคจิตได้
การรักษาโรคจิต
ปัจจุบันที่วิวัฒนาการทางด้านการรักษาก้าวหน้าขึ้นมาก พบว่า การรักษาโรคจิตได้มีการพัฒนาขึ้นตามไปด้วย ต่างจากเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ที่เข้าใจว่าโรคจิตคือการถูกไสยศาสตร์ และ ได้มีการรักษาโดยหมอผี คนทรง แต่ในปัจจุบันการรักษามีทั้งการใช้ยาซึ่งมีประสิทธิภาพดีมาก การทำจิตบำบัด และ การรักษาโดยปรับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรักษาเหล่านี้ ต้องใช้ร่วมกัน การใช้การรักษาเพียงบางอย่าง ไม่อาจให้ผลดีที่สุดในการรักษาผู้ป่วยได้ และการรักษาเหล่านี้ จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ คอยดูแล เนื่องจากการกินยาเอง อาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
No comments:
Post a Comment