Monday, November 17, 2008

:: u n z e e n :: คิดแบบดาวินชี่

[] 
 
~ How to think like Leonardo Da Vinci ~
 
 

หากเอ่ยถึงชื่อ Leonardo Da Vinci น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก

 

ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะบุคคล ท่านเป็นผู้สรรค์สร้างภาพ Mona Lisa และThe Last Supper อันเลื่องชื่อ นอกจากนี้ท่านยังเป็นสถาปนิก นักปั้น นักพฤกษศาสตร์ นักประดิษฐ์กลไก อีกทั้งยังคิดค้นอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นคนแรกของโลกและเป็นผู้ที่ให้ความสนใจทางด้านสรีระของมนุษย์อย่างแท้จริง เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า นักปราชญ์ในสมัยก่อนสามารถรอบรู้ในทุกๆ ด้าน ทุกๆ สาขา ซึ่งแตกต่างจากนักปราชญ์ในยุคสมัยปัจจุบันที่จะเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาของตัวเอง

 

สิ่งที่นำมาเสนอในครั้งนี้มาจากหนังสือ How to Think Like Leonardo Da  Vinci ประพันธ์โดย Michael Gelb หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องราวของนักปราชญ์ผู้หนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกิดมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย และสมบูรณ์แบบ แต่ท่านมีแนวความคิดอย่างไร ทำอย่างไร จึงสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ไม่มีผู้ใดสามารถลอกเลียนแบบได้ โดยหนังสือเล่มนี้มีแนวคิดที่ว่าความฉลาดของมนุษย์นั้นไม่จำเป็นต้องสืบทอดมาจากพันธุกรรม หรือไม่ได้เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษาเสมอไป แต่หากเกิดมาจากการเรียนรู้ และเลียนแบบแนวความคิดจากเหล่านักปราชญ์ทั้งหลาย และหนึ่งในนั้นคือ Leonardo Da Vinci โดยได้เสนอหลัก 7 ประการในการนำไปสู่ความเป็นปราชญ์ ดังนี้

 

1) มีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดและไขว่คว้าหาความรู้อย่างไม่หยุดหย่อน จนเข้าใจในสิ่งๆ นั้นอย่างถ่องแท้ เห็นได้ชัดจากการที่ Leonardo Da Vinci ทุ่มเทพลังชีวิตทั้งหมดให้กับการแสวงหาความจริงและความงาม โดยท่านเป็นคนช่างสังเกตและชอบตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา เช่นท่านมักจะถามว่าในหนึ่งชีวิตของคนเรานั้นจะทำสิ่งใดได้บ้างก่อนจากโลกนี้ไป และในการสังเกตทุก ๆ ครั้ง จะต้องมีการจดบันทึกไว้เสมอ

 

           ประโยชน์ของการจดบันทึก

            - เก็บข้อมูลต่าง ๆ จากการสังเกต และแนวคิดใหม่ ๆ ที่ได้รับ

            - ทำให้แนวคิดใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นมาในสมองไม่สูญเปล่า

            - เมื่อเกิดปัญหา ให้เขียนปัญหาลงในสมุดบันทึก หาเหตุผล ปัจจัยต่างๆ ข้อแก้ไข  ซึ่งจะทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน สามารถมองเห็นปัญหาและหนทางแก้ไขได้ในทุกแง่ทุกมุม

            - ทำให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ มากขึ้น

            - ทำให้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง

นอกเหนือไปกว่านั้น Leonardo Da Vinci ยังเชื่อว่า เหล็กจะขึ้นสนิม หากไม่ถูกใช้ น้ำจะเน่าเสียเมื่อไม่มีการหมุนเวียน ความเย็นที่ไม่เคลื่อนตัว จะกลายเป็นน้ำแข็ง เปรียบได้กับสมองของมนุษย์ หากไม่ถูกใช้ ไม่รู้จักขบคิด จะทำให้สมองทื่อ และหมดประโยชน์ไปในที่สุด

 

การฝึกใช้สมองนั้นเริ่มได้จากการสังเกตบุคคล และสิ่งรอบข้างอย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น อากัปกิริยา การพูดการจา อารมณ์ต่างๆ เป็นต้น เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูล นอกจากการสังเกตแล้ว การเป็นผู้ฟังที่ดียังเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้เป็นอย่างดี

 

2) ทดสอบและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับเข้ามาว่าเป็นจริงและน่าเชื่อถือหรือไม่ Leonardo Da Vinci เป็นผู้ที่มีโลกทัศน์กว้างและเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และไม่เคยเชื่อสิ่งใดๆ ที่ผ่านเข้ามาโดยที่เขาไม่ได้ประสบเอง เพราะเขาเชื่อว่าศัตรูที่แท้จริงของมนุษย์ คือ การเชื่อในสิ่งต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ดังนั้น เมื่อได้รับข้อมูลใดๆ ก็ตามให้เก็บข้อมูลไว้อย่างเป็นกลางก่อน ไม่ควรด่วนตัดสินใจว่าผิดหรือถูก ให้รู้จักเมตตาต่อผู้อื่น แล้วจึงค่อยนำข้อมูลมาทบทวนพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ให้ได้ข้อเท็จจริง แต่ที่สำคัญข้อเท็จจริงที่ได้ในครั้งนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความเป็นจริงในปัจจุบันเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง  ข้อเท็จจริงที่ได้นี้อาจจะไม่ใช่อีกต่อไป การเปิดใจกว้างเช่นนี้จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และสามารถรับเอาความรู้ ประสบการณ์ และทักษะต่างๆ จากผู้อื่นมาเป็นข้อมูลประกอบในการดำรงชีวิตของเราได้อีกด้วย

 

โดยปกติธรรมดาของมนุษย์ มักนำแต่สิ่งที่ดีๆ ของผู้อื่นมาปฏิบัติตาม แต่ Leonardo Da Vinci กลับ ไม่คิดเช่นนั้น Leonardo Da Vinci กล่าวว่าเราควรศึกษาข้อบกพร่องและความผิดพลาดด้วย เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่นำสิ่งนั้นมาเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิต

 

3) ฝึกขัดเกลาประสาทสัมผัส ทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้มีความฉับไว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสาทสัมผัสทางตา ควรให้ความสำคัญก่อนเพราะเชื่อว่าตาเป็นส่วนที่เปิดรับข้อมูลต่างๆ ได้มากที่สุดเป็นอันดับแรก   การฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 หมายความว่า เวลามองสิ่งใดให้ตั้งใจมอง  เวลาได้ยินสิ่งใดต้องตั้งใจฟัง เวลาได้รับกลิ่นใดต้องสนใจและรับรู้ได้ เวลาลิ้มรสสิ่งใดต้องแยกแยะได้ และเมื่อสัมผัสสิ่งใดหรือเคลื่อนไหวต้องมีความระมัดระวังและมีสติอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายเมื่อพูดสิ่งใด ต้องคิดตามอยู่เสมอ

 

มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะ

  • มองแต่ไม่เห็น ( Look without seeing )
  • ฟังแต่ไม่ได้ยิน ( Listen without hearing )
  • สัมผัสแต่ไม่รู้สึก ( Touch without feeling )
  • ทานแต่ไม่รู้รส ( Eat without tasting )
  • เคลื่อนไหวโดยไม่มีสัมปชัญญะ ( Move without physical awareness )
  • สูดหายใจแต่ไม่รับรู้กลิ่น (Inhale without awareness of odor or fragrance)
  • พูดโดยไม่คิด ( Talk without thinking )

 

4) คนที่จะฉลาดได้ ต้องมีแนวคิดดังต่อไปนี้

 

   1. ยอมรับในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่จีรังยั่งยืนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ เพราะปกติแล้วมนุษย์มักปริวิตก และตื่นตระหนกมากจนเกินไปกับสิ่งที่แปรเปลี่ยนโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดอาการสติแตก ทำให้มองสิ่ง ต่างๆ ที่กำลังประสบอยู่นั้นไม่ตรงตามความเป็นจริง คือคิดฟุ้งซ่าน ดังนั้น จึงไม่ควรยึดในสิ่งที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบันว่ามันจะยั่งยืน ให้คิดเสียว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ให้ทำใจเตรียมพร้อมรับอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ประมาท

 

    2. ให้มองจุดเปลี่ยนของอารมณ์ จากอารมณ์ปกติ เป็นอารมณ์อื่นๆ เช่นอารมณ์โกรธ ให้มองว่า มีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้อารมณ์เปลี่ยน และให้พิจารณาแก้ไขตรงสาเหตุนั้นๆ แต่หากเป็นอารมณ์ดีใจ ให้พิจารณาว่า เป็นเพียงอารมณ์หนึ่งที่ผ่านเข้ามา ไม่มีสิ่งใดยั่งยืน โดยปกติคนเรามักจะรับรู้ไม่ทันกับจุดที่มีการเปลี่ยนอารมณ์ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิต จึงเจ็บปวดและรับไม่ได้ และโทษว่าผู้อื่น เปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีเพียง 3 ประการหลัก ๆ คือ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน บุคคลที่เปลี่ยน หรือใจเราเองที่เปลี่ยน ซึ่งเราต้องมองให้ออก และเห็นจุดเปลี่ยนให้ได้ จึงจะไม่มีคำว่า ทำใจไม่ได้ในชีวิต

 

    3. เมื่อเกิดปัญหา ให้แก้ไขทีละเปราะ และต้องกล้ามองไปถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในปัญหานี้ แล้วลองมองย้อนขึ้นมา เพื่อหาทางแก้ไข หากถึงทางตันแก้ไขไม่ได้ จิตจะรับรู้เอง และถ้าเหตุการณ์นั้นต้องเกิดขึ้นจริงๆ จิตจะไม่กระเพื่อมและยอมรับได้ นอกจากนี้ การคิดในลักษณะเช่นนี้จะทำให้จิตใจเข้มแข็ง และทำให้เกิดปัญญาเห็นหนทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย

 

    4. เมื่อเกิดปัญหา ห้ามกลบเกลื่อนและหนีปัญหาโดยเด็ดขาด ต้องกล้าน้อมรับ ค่อยๆ คิด หาทางแก้ มองปัญหาให้ชัดๆ ไม่ควรหันไปพึ่งสุรา ยาเสพติด เพื่อให้ลืมปัญหา หาที่สงบๆ ทบทวนและพิจารณา หากเกินกำลังให้เข้าหาผู้รู้เพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป การฝึกแก้ปัญหาในแต่ละครั้งจะทำให้เราเกิดทักษะและสามารถเพิ่มขอบเขตความรู้ของตนเองให้มากขึ้นได้อีกด้วยและที่สำคัญที่สุดของประเด็นนี้ คือต้องรู้จักเลือกกรณีว่า สิ่งใดเป็นปัญหาจริงๆ อย่าคิดฟุ้งซ่าน สิ่งใดที่ไม่เป็นปัญหาก็ไม่ต้องทำให้มันเป็นปัญหา ต้องพิจารณาให้ถูกต้อง

 

     5. สร้างสมดุลในการมองโลกทั้งในด้านศาสตร์และศิลป์นอกจากเราจะศึกษาหาความรู้ทางด้านวิชาการต่างๆ ซึ่งถูกควบคุมโดยสมองด้านซ้ายแล้วนั้น ควรให้ความสนใจทางด้านสุนทรียศาสตร์ด้วย เช่น ทางดนตรีและศิลปะ เพราะเป็นการพัฒนาสมองข้างขวา นอกจากนี้ เราควรหัดสร้างมโนภาพกับปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ และลองใส่วิธีแก้โดยนึกเป็นภาพลงไปในนั้นว่าเป็นอย่างไร จะเป็นการหัดมองปัญหานอกกรอบ ซึ่งอาจทำให้ค้นพบความคิดใหม่ๆ ได้

 

     6. ดูแลร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอในสรีระร่างกายของมนุษย์ สามารถส่งเสริมความฉลาดได้ ดังนี้

        - ความสามารถที่จะใช้ได้ทั้งมือขวาและมือซ้าย เพราะจะทำให้สมองเจริญเติบโตได้ทั้งสองข้าง ซึ่งจะส่งเสริมความสามารถของเราทั้งในด้านศาสตร์และศิลป์

        - อากัปกิริยาทั้งหลายต้องสมบูรณ์และสง่างาม อธิบายได้โดยทฤษฎีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต คือ หากจิตใจเรากำลังห่อเหี่ยว แล้วเรายังทำร่างกายให้ห่อเหี่ยวตาม จะยิ่งทำให้จิตหดหู่มากขึ้น ไม่เกิดปัญญาในการแก้ไข ดังนั้น ต้องทำร่างกายให้สดชื่น ทั้งการ ยืน เดิน นั่ง การแสดงอารมณ์ทางสีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ต้องประคับประคองจิต ให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา

 

     7. ต้องหัดสังเกตสหสัมพันธ์ต่างๆของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเราและกับชีวิตของเรา ต้องสังเกตให้เห็นถึงสิ่งที่เชื่อมระหว่างเหตุการณ์เหล่านั้นให้ได้ เช่น ที่เราต้องมาทำงาน ณ ที่นี้ เพราะเหตุใด เราเป็นผู้เลือกเองหรือไม่ มองให้เห็นถึงปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจน เมื่อเกิดปัญหาจะไม่มีการปริวิตก และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น เมื่อมองเห็นความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จะทำให้เรารู้จักการวางตัวและระมัดระวังกิริยาอาการของตนเองได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

No comments: