รื่นรมย์ศิลป์
ข่าววันที่ 14 กันยายน 2551 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ
116 ปี ศิลป์ พีระศรี
ศิลปินรัตนโกสินทร์
วันศิลป์ พีระศรี เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ปีนี้ครบรอบ 116 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกับกรมศิลปากร สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันจัดงานวันศิลป์ พีระศรี เพื่อร่วมรำลึกถึง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เปรียบเสมือนบิดาของวงการศิลปะและของมหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งในด้านการสอน การวิจัย การเผยแพร่และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผู้วางรากฐานการศึกษาศิลปะไว้อย่างมั่นคง เป็นแบบฉบับของการพัฒนาการศึกษาศิลปะในสมัยต่อมาจนถึงทุกวันนี้ มีการยกย่องให้ท่านเป็นศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สำหรับวันศิลป์ พีระศรี เริ่มในวันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2551 เวลา 09.00 น. ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ จัดแสดงนิทรรศการ ปาฐกถาศิลป์ เสวนาเรื่อง "ศิลปะสมัยสุโขทัย: ก่อนสมัย – ในสมัย และสิ้นสมัย" โดย ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ "เมื่อศิลปวัฒนธรรมถูกคุกคาม..ชีวิตคนก็ไร้ค่า กรณีศึกษา...บ้านศิลปินแห่งชาติ : จักรพันธุ์ โปษยกฤต" โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ และ นายโสภณ สุภาพงษ์ ด้านนิทรรศการของแต่ละคณะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 30 ก.ย. ณ หอศิลป์ ม.ศิลปากร
ประวัติ ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ CORRADO FEROCI เกิดวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ตำบลซานยิโอวานนี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ นายอาร์ทูโด มารดาชื่อซันตินา มีอาชีพทำธุรกิจการค้า ท่านได้สมรสกับ FANNI VIVIANI มีบุตรด้วยกัน 2 คน บุตรหญิงชื่ออิซาเบลลา ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจ บุตรชายชื่อโรมาโน เป็นสถาปนิก
ศิลป์ พีระศรี เป็นชาวฟลอเรนซ์ เมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะ เมื่อเยาว์วัยท่านชื่นชมผลงานศิลปกรรมของไมเคิล แองเจโล ประติมากรเอกของโลกชาวฟลอเรนซ์ เมื่อโตขึ้นจึงได้เข้าศึกษาศิลปะที่ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จบการศึกษาตั้งแต่อายุ 23 ปี ได้รับประกาศนียบัตรช่างเขียนช่างปั้นและเข้าสอบชิงตำแหน่งศาสตราจารย์ได้ รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
ผลงานในวัยหนุ่มที่ได้รับยกย่องและมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะของศิลปิน คือรางวัลชนะการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์หลายครั้ง
ชีวิตในวัยหนุ่ม ศิลป์ พีระศรีเป็นวัยที่มีพลัง ดังนั้นท่านจึงไม่พอใจในสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ในสังคมที่เจริญแต่เพียงด้าน วัตถุในประเทศอิตาลีสมัยนั้น เมื่อท่านได้ทราบข่าวว่ารัฐบาลแห่งพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ต้องการช่างปั้นชาวอิตาเลี่ยน เพื่อเข้ามารับราชการงานอนุ สาวรีย์ในประเทศไทย ท่านจึงยื่นความจำนงพร้อมผลงานเข้าแข่งขันกับศิลปินอีกจำนวนมาก ในที่สุดรัฐ บาลไทยได้เลือก Prof. C. Feroci เข้ามารับราชการในประเทศไทย
เริ่มแรกในเมืองไทย ศิลป์ พีระศรีได้ออกเดินทางโดยทางเรือจากประเทศอิตาลีถึงกรุงสยาม ในราวต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2466 อายุได้ 31 ปี เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างปั้นของกรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อวันที่ 14 มกราคมในปีเดียวกัน โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ศิลปินเอกแห่งกรุงสยามเป็นองค์อุปถัมภ์
ในระยะแรก เป็นช่วงเวลาที่ท่านต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมแวดล้อมและการเมือง อีกทั้งยังต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับของผู้มีอำนาจในสมัยนั้น ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างผลงานรัฐบาลไทยจึงได้ยอมรับท่านเรื่อยมา เช่น มอบหมายให้ปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 เท่าพระองค์จริง ปัจจุบันประดิษ ฐานในปราสาทพระเทพบิดร และปั้นพระรูปสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฯลฯ
งานอนุสาวรีย์ในเมืองไทย ศิลป์ พีระศรีประสงค์ที่จะใช้บุคลากรที่เป็นคนไทยในการทำงานศิลปะ เมื่อท่านได้มีโอกาสจัดสร้างอนุสาวรีย์ ท่านได้ฝึกฝนกุลบุตรกุลธิดาของไทยให้ได้ศึกษาเรียนรู้วิชาการปั้น และการหล่อโลหะขนาดใหญ่ การจัดสร้างอนุสาวรีย์ในยุคสมัยของท่านดังกล่าว นับเป็นยุคแรกที่ได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญขึ้นในประเทศไทย
ผลงานที่สำคัญซึ่งปรากฏเห็นในปัจจุบันมีดังนี้ พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีขนาด 3 เท่าคนจริง ประดิษฐานที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านเป็นช่างปั้นและเดินทางไปควบคุมการหล่อที่ประเทศอิตาลี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2472
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477
รูปปั้นหล่อประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2485
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2493
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดสุพรรณบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2497
รูปปั้นประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน
พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล 25 พุทธศตวรรษ ที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ .2498 ฯลฯ
ผลงานด้านการศึกษา ด้วยเหตุที่ท่านได้ฝึกฝนเยาวชนไทยให้เข้าช่วยงานปั้นอนุสาวรีย์ จึงเป็นแรงบันดาลใจท่านจัดตั้งโรงเรียนของทางราชการขึ้นในปี พ.ศ.2469 โดยสอนเฉพาะวิชาประติมา กรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ทางกระทรวงธรรมการได้เห็นความสำคัญในสิ่งที่ท่านทำ จึงได้จัดตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนศิลปากร จัดทำหลักสูตรศิลปกรรมชั้นสูง 4 ปี ต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหา วิทยาลัยศิลปากรในปี พ.ศ. 2486
ผลงานด้านเอกสารทางวิชาการ มีตำราและบทความมากมาย ซึ่งล้วนแต่ให้ความรู้ทางศิลปะ พยายามชี้ให้เห็นคุณค่าของศิลปะ เช่น ทฤษฎีของสี ทฤษฎีแห่งองค์ประกอบศิลป์ คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง ศิลปะและราคะจริต อะไรคือศิลปะ ภาพจิตรกรรมไทย พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว ฯลฯ
ตลอดเวลาที่ท่านใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ท่านได้ทุ่มเทความรัก ความรับผิดชอบให้แก่งานราชการอย่างมหาศาล แม้ว่าท่านอยู่ในฐานะของชาวต่างชาติก็ตาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ท่านได้โอนสัญชาติเป็นไทยและเปลี่ยนชื่อเป็นไทย พ.ศ. 2502 สมรสกับคุณมาลินี เคนนี ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตลอดอายุของท่าน
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจและโรคเนื้องอกในลำไส้ที่โรง พยาบาลศิริรราช เมื่อคืนวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 รวมอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน ท่านได้อุทิศตนให้กับราชการไทยเป็นเวลาทั้งสิ้น 38 ปี 4 เดือน
No comments:
Post a Comment