Monday, July 28, 2008

:: u n z e e n :: เสี่ยบุญหลาย ตัวไม่เหมือนใคร แต่หัวใจไม่พิการ

[] 

 

เสี่ยบุญหลาย ตัวไม่เหมือนใคร แต่หัวใจไม่พิการ


เสี่ยบุญหลาย

เสี่ยบุญหลาย

เสี่ยบุญหลาย






       ในขณะที่คนปกติ มีอวัยวะครบ 32 กำลังท้อแท้สิ้นหวังกับชีวิต แต่ในมุมเล็กๆ ของอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร กลับมีอีกชีวิตหนึ่งที่แม้ว่าร่างกายไม่สมประกอบ แต่หัวใจของ "บุญหลาย" พ่อค้าเร่แห่งบ้านหนองเลิงคำ กลับไม่เคยย่อท้อในความไม่สมบูรณ์ของตัวเอง ตรงกันข้ามเขากลับมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ และเป็น "เสี่ย" ที่หลายๆ คนรักใคร่

       เด็กชายบุญหลายเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความยากจนข้นแค้นของครอบครัว นางทองฉัน บุญแสง หญิงชาวนา วัย 54 ปี บอกเล่าเรื่องราวของ บุญหลาย หรือ โชติ ลูกชายคนสุดท้องให้ฟังว่า เมื่อ 25 ปีก่อน หลังให้กำเนิดลูกคนนี้มาเพียงเจ็ดวัน เขาก็เกิดอาการชัก ตัวเกร็ง ซีดเหลือง กัดฟันแน่น พาไปหาหมอทั้งทางการแพทย์และไสยศาสตร์ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาเป็นโรคอะไร จนกระทั่งเขาอายุได้ 12 ปี ก็เกิดอาการชักขึ้นอีก ตอนนั้นโรงพยาบาลประจำอำเภอเพิ่งสร้าง เราเลยพาไปหา หมอก็บอกว่าอาการที่เกิดกับเขาคือ "โรคพิการทางสมอง"




เสี่ยบุญหลาย





       นอกจากเรื่องอาการชักที่ติดตัวมาแต่กำเนิด บุญหลาย ยังมีพัฒนาการและการเคลื่อนไหวทางร่างกายที่ช้ากว่าเด็กคนอื่น สองขาที่เล็กลีบ รวมทั้งสมองที่สั่งการช้ากว่าปกติ ทำให้เขาเดินเหิน และสื่อสารกับคนทั่วไปได้ไม่สะดวกนัก และทันทีที่ บุญหลาย เดินได้ในวัยแปดขวบ ทองฉัน ตัดสินใจนำลูกชายเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนในหมู่บ้าน ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปเพียงเจ็ดวัน ครูใหญ่ของโรงเรียนก็มาหาที่บ้าน บอกว่าไม่สามารถให้บุญหลายร่วมชั้นเรียนได้ เพราะเขาไม่ยอมหยุดเดินในขณะเรียน ครูว่าก็ไม่ยอมนั่ง ทำให้เพื่อนๆ ในห้องไม่ได้เรียน และหลังลูกชายสิ้นสุดชีวิตการเป็นนักเรียนแค่เพียงเจ็ดวัน ชาวนาการศึกษา ป.4 อย่างทองฉันก็หันมาสอนหนังสือขั้นพื้นฐานให้ลูกเอง เท่าที่ความรู้ความสามารถจะเอื้ออำนวย โดยใช้เวลาตอนกลางคืนหลังกลับจากทำนา  

       "เขาเขียนหนังสือไม่ได้ ถึงตอนนี้ก็ยังเขียนไม่ได้ ถ้าลองให้เขียนชื่อตัวเองนี่ คือเต็มหน้ากระดาษเลยนะ เพราะมือเขาแข็งเกร็ง ไม่ใช่แค่เรื่องการเขียนนะ แต่เรื่องการสะกดคำหรืออะไรที่เกี่ยวกับตัวอักษรนี่หัวเขาจะไม่รับแล้วก็ไม่สนใจเลย" นางทองฉัน กล่าว




เสี่ยบุญหลาย

เสี่ยบุญหลาย





       อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่สมบูรณ์ กลับมีบางสิ่งบางอย่างที่บุญหลายพอจะเข้าใจมันได้อย่างรวดเร็ว และสิ่งนั้นก็กลายเป็นพื้นฐานที่ทำให้เขาหาเลี้ยงชีพ และยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้อย่างทระนงองอาจ ทั้งๆ ที่ชีวิตอาจไม่ได้โสภาสง่างามมากนัก  

       ปัจจุบัน "บุญหลาย" ในวัยเบญจเพส มีกิจการเล็กๆ เป็นของตัวเอง ด้วยการรับซื้อพืชผักต่างๆ เช่น พริก กระเทียม มะนาว หัวหอม ฯลฯ มาตระเวนขาย เขาเรียนรู้วิชาทำอยู่ทำกินจากบุพการี สมัยเมื่ออายุได้ 14 ปี และยึดเป็นอาชีพนับแต่นั้นมา โดยก่อนหน้านี้บุญหลายช่วยพ่อแม่ขายผักได้สองสามปี ก็เริ่มหันมารับซื้อของเก่าจำพวกลวดทองแดง เศษเหล็กตามหมู่บ้าน โดยช่วงแรกนั้นเด็กชายยืมเงินพี่มาลงทุน ครั้นทำได้ไม่กี่ปีหนี้สินดังกล่าวก็หมดไป กระทั่งเริ่มมีเงินก้อนแรกเป็นของตัวเอง  

       "แรกๆ เขาไปขายเอาเปอร์เซ็นต์ก่อน เจ้าของคอยเก็บตังค์อย่างเดียว เสร็จแล้วก็จะแบ่งกำไรให้บุญหลาย ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอก มารู้อีกทีตอนที่เถ้าแก่เขาเอาเงินมาให้ เขาเอาเงินมาให้ทีเดียว 20,000 บาท แล้วบอกเงินของบุญหลาย เราเห็นก็งง ไม่กล้ารับเงิน เถ้าแก่เขาก็เลยอธิบายให้ฟัง เลยรู้ว่าเป็นของเขาจริง เถ้าแก่พวกนี้รักบุญหลายกันทุกคน พวกเขาบอกว่าบุญหลายเป็นคนซื่อสัตย์ ขยันทำงาน แล้วก็ไม่เคยโกงเงินแม้แต่บาทเดียว หลังจากทำไปได้ราวสี่ปีคนอื่นๆ หันมาทำกันมากขึ้น บุญหลายจึงเบนเข็มหันมาขายผักในตลาดแทน" ทองฉัน บอกเล่าเรื่องราวของลูกชายด้วยรอยยิ้ม  




เสี่ยบุญหลาย

เสี่ยบุญหลาย





       ทุกๆ วัน บุญหลายจะตื่นนอนก่อนไก่ขันตั้งแต่ตีสาม ออกไปคนเดียวท่ามกลางความมืด ค่อยๆ ใช้สองขาลีบเล็กผิดรูป ปั่นจักรยานไม่มีเบรกด้วยความรวดเร็ว ขณะที่แขนข้างหนึ่งยกขึ้นปาดเหงื่อที่ไหลโซมกายเป็นระยะ สายตาจ้องมองพื้นถนนมากกว่าเส้นทางเบื้องหน้า เป็นระยะทาง 12 กิโลเมตร เพื่อเลือกซื้อของจากพ่อค้าขายส่งในตลาด แล้วนำไปขายปลีกตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งแม้สินค้าของบุญหลายอาจไม่ได้ขายดีแบบเทน้ำเทท่า แต่ก็ไม่มีสักครั้งทีจะมีของเหลือติดตัวกลับมาบ้าน หากเขาไม่ได้ตั้งใจนำกลับมาให้ญาติพี่น้อง  

       "มอ สระอี นอ กระเทียม มอ สระอี นอ บักนาว (มะนาว) มาแล้ว หะ... หะ... ห้าหน่วยสิบบาท เร็วว..." พ่อค้าหนุ่มลูกอีสานผู้อยู่ในทรงผมแบบบรูซ ลี กำลังป่าวประกาศเสียงดังถึงสินค้าที่อยู่ท้ายจักรยาน ซึ่งนอกจากจะสะกดคำผิดแล้ว ดูเหมือนคำว่ามะนาวกับกระเทียมของเขาจะเขียนเหมือนกันอีกต่างหาก  

 





       สาเหตุที่สินค้าของบุญหลายขายดีจนหมดเกลี้ยงทุกวัน ไม่ได้เป็นเพราะความเห็นอกเห็นใจของผู้ซื้อ แต่ยุทธวิธีการขายแบบไม่เอากำไรมาก เน้นขายได้เยอะๆ คือ ขายถูกกว่าราคาตลาดเกือบทั่วตัว ลูกค้าส่วนใหญ่จึงหันมาซื้อของของเขา เพราะมันถูกกว่า พูดง่ายๆ ว่า กินน้อยๆ แต่กินนานๆ กินได้ตลอด  

       "กำไรนิดๆ หน่อยๆ ก็พอแล้วไม่ต้องเอาม่า... ม่า... มากหรอก บางคนสนิทกัน ผมก็ถุ... แถมให้เขาบ้าง ขายแบบนี้ คนเขาก็ซื้อเราเยอะ ไม่ต้องใช้เวลานา... นา... นานก็หมด"  

       นอกจากวิธีถูกเข้าว่า บุญหลายยังใช้วิธีการสับเปลี่ยนสินค้าไปตามราคาของตลาด เขาจะสำรวจราคาของอยู่ตลอดเวลาว่าช่วงไหนผักหรือผลไม้แต่ละชนิดมีราคาเท่าใด เพื่อที่จะนำสินค้าราคาถูกมาขายในช่วงนั้น ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เขาไม่ต้องประสบภาวะข้าวยากหมากแพงดังเช่นพ่อค้าคนอื่นๆ เพราะไม่ว่าราคาข้าวของจะขึ้นลงยังไง ยอดขายและกำไรของเขาก็ยังคงอยู่เท่าเดิม






เสี่ยบุญหลาย

เสี่ยบุญหลาย





       สำหรับที่ไปที่มาของฉายา "เสี่ย" ที่ชาวเลิงนกทามอบหลายๆ คนเรียกนั้น วิเชียร เนาวนิตย์ พ่อค้าขายส่งผักเล่าว่า ผมว่าคนสมองดีๆ อย่างเราๆ นี่ยังทำงาน ยังขยันสู้เขาไม่ได้เลยนะ ของเรานี่ยังเหลือ ของเขาขายหมดทุกวัน คนที่นี่บางคนเห็นเขาขยันทำงานขายของหมด มีเงินมีทอง ทั้งๆ ที่ร่างกายไม่ดี ก็เลยแซวแล้วก็เรียกเขาติดปากว่า "เสี่ยบุญหลาย" แล้วที่เป็นเสี่ยอีกอย่าง คือ ความที่บุญหลายชอบเลี้ยงคนอื่น ใครแถว บขส. (บริษัท ขนส่ง จำกัด) อยากกินอะไรเขาก็เลี้ยงหรือเวลามีเทศกาล งานประจำปี เขาก็มักจะซื้อลูกอมเป็นถุงไปหว่านแจกที่หน้าเวทีเลย ทั้งเด็กๆ และคนแถวนั้นก็จะแย่งกันเก็บ

       นอกจากน้ำใจที่แผ่เผื่อไปถึงเพื่อนมนุษย์นอกบ้านแล้ว พ่อค้าหนุ่มรู้ดีว่าการดูแลคนอื่นจะไม่มีประโยชน์ หากคนที่บ้านไม่เคยได้รับสิ่งดีๆ จากเขา โดยทองฉันเล่าถึงวัตรปฏิบัติของลูกชายว่า ทุกวันเขาจะซื้อกับข้าวมาให้เรา บางทีก็ซื้อขนมติดไม้ติดมือมาให้หลานๆ ยิ่งถ้าช่วงต้นเดือนเขาจะซื้อของกินของใช้มาเป็นลังเผื่อเอาไว้เลย แล้วเขาไม่ได้ซื้อให้แต่พ่อกับแม่นะ พี่และญาติคนอื่นๆ เขาก็ซื้อให้ด้วย




เสี่ยบุญหลาย

เสี่ยบุญหลาย





       ตลอดเวลาที่ผ่านมา บุญหลายมีท่ารถบขส. เป็นบ้านหลังที่สอง มันเปรียบได้กับอาณาจักรส่วนตัวและโลกอีกใบหนึ่งของเขา แทบทุกวัน หลังบ่ายโมง หากใครต้องการพบบุญหลาย เป็นอันรู้กันว่าให้ไปหาตัวได้ที่ท่ารถ บขส. ที่นี่ชายหนุ่มจะทำตัวตามสบาย ยิ้มแย้ม แจ่มใส ซึ่งหากว่างจากการโบกรถให้ผู้โดยสาร เขาก็จะไล่แซวหยอกล้อกับพ่อค้าแม่ค้าแถวนั้นอย่างสนุกสนานเป็นกันเอง นอกจากจะมาโบกรถและไล่แซวแม่ค้าจนกลายเป็นความบันเทิงของชีวิต บุญหลายยังมาที่นี่เพื่อจะนั่งรถโดยสารออกไปดูโลกกว้าง บ่อยครั้งที่เขามักขอติดรถไปเที่ยวยังจังหวัดอื่นๆ เพราะบุญหลายเป็นหนุ่มชอบเที่ยว เขาออกเดินทางมาแล้วหลายจังหวัด ซึ่งเวลาเดินทางแต่ละครั้งเขาจะพกเงินไปเองครั้งละ 1,000-1,500 บาท ซึ่งเป็นเงินของเขาเองติดตัวไปด้วย  

       "เขาบอกว่าเขาคงจะดีใจมากถ้าแม่ได้ไปเที่ยวกับเขา เพราะเขาอยากให้แม่ได้เห็นเหมือนที่เขาเห็น" ทองฉันเล่าถึงความฝันลึกๆ ของลูกชายที่มีต่อตนเอง  

       ท่ามกลางลมหายใจและเวลาชีวิตที่น้อยลงทุกวัน มนุษย์ที่มีศักยภาพอันสมบูรณ์บางจำพวกกลับไม่กล้าแม้แต่จะลุกขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ แต่สำหรับ "บุญหลาย" หนุ่มลูกอีสานคนนี้เลือกที่จะออกไปใช้ชีวิตตามแรงปรารถนาของหัวใจ แม้ชีวิตอาจจะไม่ได้มีแต้มต่อใดๆ เลยก็ตาม



ข้อมูลจากและภาพประกอบจาก


นิตยสาร ฅ ฅน ปีที่
3 ฉบับที่ 9 (33) เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551


No comments: