| ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต | | | 揠 (yà) อ่านว่า ย่า แปลว่า ดึง 苗 (miáo) อ่านว่า เหมียว แปลว่า หน่อ ต้นกล้า 助 (zhù) อ่านว่า จู้ แปลว่า ช่วย 长 (zhǎng) อ่านว่า จ่าง แปลว่า เติบโต กาลครั้งหนึ่งเมื่อย่างเข้าฤดูหว่านไถ มีชาวนารัฐซ่งผู้หนึ่งที่มีนิสัยใจร้อน ภายหลังหว่านกล้าลงนาเรียบร้อย เขาก็เฝ้ารอคอยโดยหวังว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วๆ ดังนั้น ทุกๆ วันเขาจะไปนั่งที่ทุ่งนา และเฝ้าคิดว่าเหตุใดต้นกล้าเหล่านี้จึงเติบโตช้าเหลือเกิน จนอดรนทนไม่ไหวเขาจึงพยายามขบคิดหาวิธีการที่จะทำให้ต้นกล้าโตเร็วกว่าเดิม สุดท้ายจึงคิด "วิธีที่ดีที่สุด" ออกมาได้ นั่นคือใช้มือดึงให้ต้นกล้าโผล่พ้นดินขึ้นมามากขึ้น ซึ่งเมื่อมองดูจะดูคล้ายต้นกล้าเติบโตและสูงขึ้นกว่าที่เป็น หลังจากปฏิบัติการตามวิธีที่คิดได้มาทั้งวันจนเสร็จสิ้น เขาพอใจผลงานของตนเองเป็นอันมากจึงเดินทางกลับไปพักผ่อนที่บ้าน และเมื่อถึงบ้าน เขาจึงเล่าให้คนในครอบครัวฟังว่า "วันนี้ข้าทำงานเหนื่อยเหลือเกิน แต่ก็คุ้มค่าเพราะช่วยทำให้ต้นข้าวโตเร็วขึ้นมาอีกหลายข้อเลย" เมื่อบุตรชายของเขาได้ฟัง ก็รีบวิ่งไปที่ทุ่งนาเพื่อดูผลงานของผู้เป็นบิดา แต่ทว่า...สิ่งที่พบคือต้นกล้าที่พากันเหี่ยวเฉาอยู่เต็มท้องทุ่งนา ภายหลัง "ย่าเหมียวจู้จ่าง" หรือ "ดึงต้นกล้าให้โต" ใช้เปรียบเทียบกับการพยายามฝืนกฎเกณฑ์ธรรมชาติ หรือการรีบร้อนเร่งให้งานใดๆ สำเร็จ โดยใช้วิธีที่ผิด จนก่อให้เกิดผลเสียหายตามมา | |
No comments:
Post a Comment