[J][A][A]
~ กลุ่มเมล์อันซีน ~
สาระน่ารู้ รื่นเริง บันเทิงใจ
สมัครรับเมลล์ ไปที่เว็บไซท์ ' http://groups.google.com/group/unzeen '
หรือส่งเมลล์เปล่าไปที่ ' unzeen-subscribe@googlegroups.com '
เยือนลำพูน เที่ยวงานบุญ 'ตานก๋วยสลาก'
ถวายไทยทาน ~ กราบพระธาตุคู่เมือง
อีกหนึ่งประเพณีสำคัญของถิ่นล้านนา
ภาคเหนือ มีประเพณีมากมาย
หากคนภาคอื่นได้ไปเยือนแล้ว จะเกิดความประทับใจในการต้อนรับของชาวบ้านชาวเมือง
รวมทั้งการแสดงที่อ่อนช้อย ตลอดจนสีสันของงานที่เน้นหลากหลายสี ดูแล้วน่าสนใจ น่าค้นหายิ่งนัก
สำหรับประเพณีการถวายทานสลากย้อม หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ตานก๋วยสลาก" ซึ่งในจังหวัดลำพูน ใ
นปีนี้กำหนดจัดอย่างยิ่งใหญ่ ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
ในวันเพ็ญเดือน 10 ของทุกๆ ปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 26 กันยายน 2550
การถวายทานสลากย้อมนี้ ในอดีตเชื่อกันว่าเป็นหน้าที่ของหญิงสาวที่จะพึงทานโดยเฉพาะ
เมื่อหญิงสาวคนใดอายุขัยอยู่ในวัยสาว มีความสามารถพอที่จะทำงานได้
พ่อแม่ก็จะแนะนำให้ลูกทราบถึงหน้าที่ที่หญิงสาวพึงปฏิบัติเป็นเบื้องแรก
คือการเก็บหอมรอมริบเงินทองที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง เพื่อรักษาไว้ถวายทานสลากย้อม
โบราณกล่าวว่าหญิงใดยังไม่ได้ถวายทานสลากย้อมหญิงนั้นไม่สมควรจะแต่งงาน
ถ้าหญิงใดได้ถวายทานสลากย้อมแล้ว ถือว่าแต่งงานเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีได้
เพราะประเพณีทำให้เกิดผลดี คือ เป็นการหัดให้เด็กรู้จักการเก็บหอมรอมริบ รู้จักมัธยัสถ์
ซึ่งต้องใช้เวลาในการเก็บเงินเพื่อทำสลากย้อมประมาณ 4-5 ปี
ซึ่งสิ่งนี้พอที่จะสามารถสร้างนิสัยการเก็บออมให้เกิดขึ้นได้
เมื่อหญิงสาวมีเงินพอที่จะถวายทานสลากย้อมแล้ว
จะเริ่มซื้อของตระเตรียมไว้ทีละเล็กละน้อยตั้งแต่สร้อยคอทองคำ เข็มขัดเงิน
และเครื่องเรือนครบทุกชิ้น นอกนั้นเป็นส้มสุกลูกไม้
โดยเฉพาะกล้วย จะใส่ทั้งเครือ มะพร้าวใส่ทั้งทะลาย และยังมีขนมนมเนยทุกอย่างใส่อีกด้วย
ต้นสลากย้อมนิยมทำสูงประมาณ 5-6 วา หรือตั้งแต่ 12 เมตรขึ้นไป
ที่ยอดของต้นสลากย้อม ชาวบ้านมักปักร่มกางไว้ ส่วนตามกลอนและเชิงชายของร่ม
จะห้อยย้อยไปด้วยสร้อยคอ เข็มขัดตลับเงิน และเหรียญเงินประดับประดาอย่างสวยงาม
ขณะที่ลำต้นของสลากย้อมจะใช้ฟางมัดล้อมรอบเพื่อง่ายแก่การปักไม้
สำหรับแขวนผลไม้และสิ่งของต่าง ๆ ตามแต่เจ้าภาพจะปรารถนา
สำหรับการแต่งดานี้จะใช้เวลาร่วมเดือนด้วยการนำกระดาษสีที่นำมาประดับนับเป็นร้อยแผ่น
ที่จะเรียกว่าย้อมสมบูรณ์นั้น จะต้องมีประวัติของเจ้าของสลากอ่านให้คนทั้งหลายฟังด้วย
การเขียนประวัติเจ้าของสลากย้อมนี้ จะต้องไปจ้างผู้ที่มีความชำนาญในการแต่งกลอนพื้นเมืองเป็นผู้แต่ง
โดยเรียกว่า "ครรโลง" ผู้แต่งจะบรรยายด้วยลีลากลอนอันไพเราะ
เล่าถึงชีวประวัติของเจ้าของสลากย้อม นับตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน
ในบทกลอนคือ "ค่าว" หรือ "ครรโลง" นี้ ผู้แต่งจะสอดแทรกคติธรรม ตลกขบขัน
เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังและเจ้าของสลากย้อม ตามจังหวะที่เหมาะสม
ตอนท้ายเป็นคำแผ่บุญและปรารถนาที่เจ้าของสลากย้อมได้ ตั้งไว้ จบลงด้วยครรโลงธรรม
ขณะแต่งดาสลากย้อมในเวลากลางคืน "ครรโลง" นี้จะสามารถช่วยกล่อมบรรยากาศ
ในการแต่งดานั้นเกิดความครึกครื้นขึ้น โดยผู้มีเสียงอันไพเราะของการอ่าน "ครรโลง"
จะมีด้วยกันตั้งแต่ 2-3 คนขึ้นไป ถ้า "ครรโลง" ใครแต่งดีจะมีคนมาอ่านไม่ขาด
เป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่เจ้าของสลากย้อมเป็นอันมาก
ฉะนั้นเจ้าภาพจึงเลือกจ้างคนที่มีฝีปากดีจริงๆ แม้ค่าจ้างนั้นจะแพงก็ยอม
เมื่อแต่งดาเสร็จถึงวันถวายทานสลากแล้ว จะมีชาวบ้านมาช่วยกันหามแห่จากบ้านไปสู่วัด
ที่งานถวายทานสลากย้อมโดยจะใช้คนหามอย่างน้อย 12 คน เพราะหนักมาก
การถวายทานก็เหมือนกับการทานสลากภัตโดยทั่วไป
เมื่อสลากย้อมตกแก่พระภิกษุหรือสามเณรรูปใดแล้ว ก่อนประเคนรับพรพระหรือสามเณรรูปนั้น
ต้องหาคนมาอ่านครรโลงของเจ้าภาพจนจบเสียก่อน จึงสามารถประเคนรับพร อันเป็นเสร็จพิธี
ประเพณีถวายทานสลากย้อมนี้ นับได้ว่าเป็นประเพณีของชาวเหนือที่หาดูได้ยาก
ประเพณีถวายทานสลากย้อมนี้ นับได้ว่าเป็นประเพณีของชาวเหนือที่หาดูได้ยาก
จึงขอเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมงานประเพณีนี้
ในวันที่ 26 กันยายน ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป
ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน
หากท่านได้มาร่วมงาน นอกจากจะได้บุญกุศลแล้ว ยังได้นมัสการพระธาตุหริภุญชัย
ซึ่งเป็นจอมเจดีย์ 1 ในประเทศไทย รับรองว่ามาเที่ยวงานนี้แล้วจะอิ่มบุญไปอีกนาน
สนับสนุนข้อมูล
สวัสดิ์ ทาใจ/ชาญฤทธิ์ มณีจอม
สนับสนุนข้อมูล
สวัสดิ์ ทาใจ/ชาญฤทธิ์ มณีจอม
- ที่มา: จันทร์เจ้าขาดอทคอม -
' เคลียร์เมลล์บ๊อกซ์ให้ว่าง เพื่อรับเมลล์ดีๆ แบบนี้ทุกวัน '
No comments:
Post a Comment